รัฐบาลทหารพม่านำภาพ"ออง ซาน ซู จี"
ผู้นำฝ่ายค้านฯออกอากาศผ่านสื่อโทรทัศน์พม่าเป็นครั้งแรกรอบอย่างน้อย 4ปี พร้อมปล่อยพระสงฆ์หลายร้อยรูป และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกลับมาใช้ดังเดิม ด้านชาติตะวันตกยักษ์ใหญ่ในคณะมนตรีความมั่นคงฯยูเอ็นร่างแถลง การณ์ประณามพม่าจากการใช้กำลังปราบผู้ประท้วง (6ตค.) การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลทหารพม่า ดูเหมือนเป็นความพยายามสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ ขณะที่บรรดาผู้นำรัฐบาลทหารพม่าถูกโจมตีอย่างหนักในที่ประชุมสหประชาชาติ กรณีการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย
สถานีโทรทัศน์ของทางการพม่า
แพร่ภาพขณะนางซู จี พบปะกับนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตสหประชาชาติ และระบุว่า บุคคลทั้งสองได้พบกันถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีภาพของนายกัมบารี พบปะหารือกับ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ในระหว่างการเยือนเป็นเวลา 4 วัน ในสัปดาห์นี้ด้วย รายงานระบุว่า นายกัมบารี กล่าวเรียกร้องให้พม่าใช้วิถีทางการเมืองคลี่คลายปัญหา โดยไม่ใช้ความรุนแรง ถอนทหาร ยกเลิกเคอร์ฟิว และเริ่มก้าวไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังได้ขอร้องให้พม่าเปิดโอกาสให้กาชาดสากลได้เข้าพบผู้ที่ถูกควบคุมตัว และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ นางซู จี ถูกกักบริเวณตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา และภาพของนางไม่ได้ถูกนำมาออกอากาศในโทรทัศน์ของทางการพม่า นับแต่ก่อนที่นางถูกกักบริเวณครั้งหลังสุดที่เริ่มเมื่อปี 2546 เป็นต้นมา
ส่วนกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย
รัฐบาลทหารพม่ายอมรับว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงบุกเข้าไปยังวัดถึง 18 แห่ง เมื่อสัปดาห์ก่อน และจับกุมผู้คนรวมทั้งพระสงฆ์จำนวนมาก แต่นับถึงขณะนี้ มีพระสงฆ์เพียง 109 รูปเท่านั้น ที่ยังคงอยู่ในความควบคุม
ทางด้านสหรัฐฯ อังกฤษและฝรั่งเศส 3 ชาติตะวันตก ที่เป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงฯได้ออกร่างแถลงการณ์ประณามรัฐ บาลทหารพม่า เวียนไปยังสมาชิก 15ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงฯเมื่อค่ำวันศุกร์หลังคณะมนตรีความมั่นคงฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ในพม่าจากนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติที่ได้เดินทางไปเยือนพม่านาน 4 วัน หลังเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงในเมืองย่างกุ้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ในร่างแถลงการณ์ระบุว่า
คณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าปราบปรามการชุมนุมประท้วงด้วยความสงบ ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังกับพระสงฆ์ที่เป็นตัวแทนของสถาบันศาสนา และแสดงความวิตกต่อการที่รัฐบาลทหารพม่ายังคงจับกุมคุมขังผู้ประท้วงไว้เป็นจำนวนมาก
พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่า
ใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุด และยุติการใช้มาตรการปราบปรามผู้ประท้วงและเรียกร้องให้ปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมโดยทันที รวมทั้งให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และให้รัฐบาลพม่าเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงของผู้เสียชีวิต สูญหาย และผู้ที่ถูกจับกุม ในแถลงการณ์ที่ไม่มีผลผูกมัดนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากทั้ง 15 ชาติสมาชิกคณะมนตรี ฯ ซึ่งจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ในวันจันทร์นี้