สำนักวิทย์เตือนทะเลวิกฤติมลพิษส่งผลปักเป้าพิษแรงกว่าปกติหลายเท่า พบ 1 ตัวฆ่าคนได้มากถึง30 คนส่วน
"เก๋า-กะพง"ตัวใหญ่ๆ สะสมพิษคล้ายปักเป้า แฉปักเป้านอกทะลักเข้าไทย บี้กรมประมงตรวจจับให้ถึงต้นตอ ตัดวงจรก่อนถึงผู้บริโภคโดยไม่รู้ตัว เมื่อเวลา13.15 น.วันที่ 3 ตุลาคมราชบัณฑิตยสถาน โดยสำนักวิทยาศาสตร์ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับ "พิษจากปลาปักเป้า" มาชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของการเกิดพิษของปลาปักเป้า ที่มีปัจจัยจากเชื้อแบคทีเรียและแพลงตอนในทะเล ประกอบกับมลพิษทางทะเล ยิ่งเสริมให้ปลาปักเป้ามีพิษเพิ่มขึ้น และคนไทยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากพิษปลาปักเป้าโดยไม่รู้ตัว เพราะมีการลักลอบจำหน่ายปลาปักเป้า จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยเร่งด่วน
ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์เมนะเศวต ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ประเภทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาการประมง กล่าวว่า
ปลาปักเป้าในประเทศไทยมี 2 วงศ์คือ Tetraodontidae และDiodontidae อาศัยอยู่ในน้ำจืด หรือน้ำเค็ม 20 ชนิด โดยปลาปักเป้าพิษในประเทศไทย ได้แก่ ปลาปักเป้าลาย(Sphoeroides scleratus (Gmelin)) ปลาปักเป้า(Tetrodon hispidus : Lac) ปลาปักเป้าดำ(Tetrodon stellatus : BI.& Schn.) โดยสารชีวพิษปลาปักเป้าผลิตโดยแบคทีเรียในเซลล์แพลงตอนไดโนแฟลเกลเลตเป็นพิษรุนแรงต่อระบบประสาท เกิดอัมพาตกล้ามเนื้อ และทำให้เสียชีวิต
"สารชีวพิษในปลามี 2 ชนิดคือ เทโรทอกซิน (Tetrotoxin) เป็นพิษรุนแรงต่อระบบประสาทกล้ามเนื้อเกิดอัมพาต มักเสียชีวิต มีพิษมากในรังไข่ ตับ หนังลำไส้น้อย และพิษที่ปลาปักเป้าสร้างขึ้นทนความร้อนเกิน 200 องศาเซลเซียส อันตรายกว่าไซยาไนด์ 1,200 เท่า ปลาปักเป้าพิษ 1 ตัว สามารถฆ่าคนได้ถึง 30 คน ส่วน Saxitoxin มีพิษอ่อนกว่าเทโทรทอกซิน เกิดในฤดูสาหร่ายพิษสะพรั่งและแบคทีเรีย(สกุลMorexella) ผลิตสารชีวพิษนี้นอกจากนี้ ปลาตามแนวปะการังที่กินพวกสาหร่ายและสัตว์ทะเล เช่น ปลากะพง ปลาเก๋า ตัวใหญ่ๆ อาจมีการสะสมสารพิษ ซึ่งจะมีอาการคล้ายพิษปลาปักเป้า" ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ กล่าว