หลังจากเปิดให้บริการฝังไมโครชิพวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งมีประชาชนนำสุนัขมาขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 2,920 ตัวนั้น ส่วนการให้บริการวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกมีประชาชนไปใช้บริการฝังไมโครชิพที่ กองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย และคลินิกสัตวแพทย์ กทม. ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่ง กทม. ได้เปิดให้บริการทั้งวัน จากเดิมที่คลินิกสัตวแพทย์เคยให้บริการครึ่งวันและบางที่ใช้วิธีแจกบัตรคิวเพราะมีประชาชนแห่ไปใช้บริการจำนวนมาก โดยจะเปิดให้บริการตลอดไปยกเว้นวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งปัญหาที่พบคือประชาชนแห่ไปใช้บริการจำนวนมาก เพราะเกรงว่าไมโครชิพ จะหมด ซึ่งประชาชนไม่ต้องเป็นห่วงเพราะขณะนี้ยังเหลือไมโครชิพอีกจำนวนมากกว่า 40,000 ชิ้น ซึ่งสำนักฯ อยู่ระหว่างหารือกับประธานกลุ่มโซนฯ เพื่อจัดบริการฝังไมโครชิพ เคลื่อนที่ฟรี เพื่อให้บริการประชาชนครอบคลุมขึ้น เนื่องจากหลายคนไม่ได้เดินทางไปฝังไมโครชิพยังสถานที่ที่ กทม. กำหนด เพราะเดินทางไม่สะดวก และหลายคนต้องไปใช้บริการฝังไมโครชิพที่คลินิกเอกชน ซึ่ง กทม.ขอความร่วมมือในการควบคุมราคาไม่ให้เกิน 500 บาท
นายประสาน กล่าวต่อว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น สำนักฯ จึงได้หารือกับประธานกลุ่มเขตโซนต่าง ๆ เพื่อจัดโครงการฝังไมโครชิพเคลื่อนที่
ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดสถานที่และวันเวลา โดยใช้ชื่อโครงการว่า “หมอพบหมา” คาดว่าน่าจะเริ่มออกให้บริการไปตามจุดต่าง ๆ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. นี้ นอกจากนี้สำนักฯ จะเสนอผู้บริหาร กทม. พิจารณาเรื่องจำนวนและกำหนดเวลาในการฝังไมโครชิพฟรี ที่ได้ขยายเวลาการฝังฟรีจากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 5 ต.ค. นี้ เป็นวันที่ 5 ม.ค. 2551 หรือจนกว่าไมโครชิพจะหมด เพื่อพิจารณาในการจัดซื้อไมโครชิพ เพิ่มเติมเป็นลอตที่ 2 โดยอาจจะขอซื้อเพิ่มอีก 50,000 ชิ้น แต่ในลอตที่ 2 นี้จะต้องเก็บค่าบริการฝังไมโครชิพตัวละ 150 บาท.