แรงงานต่างด้าวที่ตั้งเป็นชุมชนใหญ่ในเมืองสมุทรสาคร กำลังจะสร้างปัญหาในอนาคต
ทั้งแง่ความมั่นคง การแพร่กระจายโรค รวมถึงปัญหาอาชญากรรม และยังไม่มีทีท่าว่าจะพบทางออก ใครจะคิดบ้างว่าสมุทรสาคร จังหวัดชายทะเลพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับประมงทะเล บนเนื้อที่ 872 ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมกันเพียง 467,172 คน
ตรงกันข้ามกลับมีประชากรแฝงที่มาในรูปของแรงงานมากกว่า 5 แสนคน หรือมีมากกว่าประชากรทั้งจังหวัด โดยเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมายและหลบหนีเข้าเมืองทำงานอยู่ตามสถานประกอบการต่างๆ6,320 แห่ง
สาเหตุที่สมุทรสาครกลายเป็นเมืองศูนย์รวมของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองก็เนื่องมาจาก
สภาพการขาดแคลนแรงงานไทย ที่ไม่ยอมทำงานกิจการประมงทะเล เพราะเป็นงานหนัก สกปรก มีกลิ่นเหม็น ระยะเวลาทำงานไม่แน่นอน อยู่กลางแจ้งตากแดด ทำงานไม่เป็นเวลา ขาดความมั่นคง และเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้าง
ด้วยจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่จำนวนมากนำมาซึ่งปัญหาหลากหลาย สามารถแบ่งออกเป็น 5 ปัญหาหลักๆ
1.ปัญหาชุมชนต่างด้าว
เป็นปัญหาที่สำคัญประการแรกนอกจากแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ 226,653 คน ยังมีผู้ติดตามอีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่มีข้อมูลชัดเจน ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้รวมตัวตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวกระจายอยู่ทั่วสมุทรสาครและกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม บางแห่งเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ยากที่ทางการจะเข้าไปควบคุมตรวจสอบได้ บางแหล่งชุมชนคนไทยต้องย้ายออกนอกพื้นที่ ด้วยขาดความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
2.ปัญหาด้านสาธารณสุข
การรวมตัวอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดก่อให้เกิดโรคติดต่อร้ายแรงและแพร่กระจายในชุมชน ได้แก่ วัณโรคสายพันธุ์ใหม่ โรคกาฬหลังแอ่น โรคเท้าช้าง โรคเอดส์ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประเภทอาหาร โรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวระหว่างปี 2547-2550 ได้แก่ ซิฟิลิส 784 ราย โรคพยาธิเท้าช้าง 56 ราย วัณโรค 1,275 ราย การตั้งครรภ์พบมากถึง 4,435 ราย และโรคเรื้อน 1 ราย ปี2548 จ.สมุทรสาคร ต้องเฝ้าระวังโรคที่เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 5 อันดับ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไข้มาลาเรีย วัณโรค ไข้เลือดออก และซิฟิลิส ส่วนปี2549 ยังคงเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ตาแดง และไข้มาลาเรีย
3.ปัญหาผู้ติดตามและเด็กไร้สัญชาติ
รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนและไม่สามารถควบคุมผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวได้และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบโดยตรง หรือกำหนดสถานะของบุคคลกลุ่มนี้ ดังนั้น จึงเป็นช่องทางให้เกิดการย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยอย่างถาวร ซึ่งจะเป็นปัญหาและยากในการผลักดันกลับประเทศ ที่สำคัญในอนาคตปัญหาบุตรแรงงานต่างด้าวทั้งที่เกิดและไม่ได้เกิดในประเทศไทย จะยิ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุด เรื่องจากจะมีแรงผลักดันทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้รัฐบาลให้สัญชาติแก่กลุ่มคนเหล่านี้
4.ปัญหาด้านอาชญากรรมและการไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย
มีการใช้อิทธิพลในชุมชนการค้ายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย การฆาตกรรม การค้าแรงงาน และการกระทำผิดและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง
5.ปัญหาความมั่นคงภายใน
มีการสวมบัตรประจำตัวประชาชนไทยการแจ้งเกิดของเด็กที่เกิดจากแรงงานต่างด้าว โดยมีขบวนการรับจ้างเป็นพ่อเด็ก นอกจากนี้ การควบคุมตรวจสอบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่ทำได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากจำนวนแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมากเกินความจำเป็น และกระจายอยู่ทั่วทุกประเภทกิจการ ซึ่งอาจลุกลามไปถึงปัญหาความมั่นคงของประเทศได้
นอกจากนี้การดำเนินการจับกุมและส่งกลับไม่ได้ผล
เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่ถูกส่งกลับสามารถลักลอบกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้ โดยมีกลุ่มผู้นำพาเข้ามาแม้จะมีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาทำงานอยู่ในสมุทรสาครจำนวนมากมายมหาศาลทว่ามีการจับกุมส่งกลับประเทศได้แค่เพียงน้อยนิดเท่านั้น
ตั้งแต่ปี2547-2550 มีการจับกุมแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 19,987 ราย
แบ่งเป็น แรงงานพม่า 16,381 ราย ลาว 1,482 ราย กัมพูชา 2,046 ราย อื่นๆ 78 ราย
ด้านปัญหาอุปสรรคที่พบคือ คนต่างด้าวส่วนใหญ่ขาดการศึกษาและไม่ค่อยใส่ใจคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดและสิ่งแวดล้อมตามมา
ไม่มีการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้นายจ้างผู้ให้ที่พักพิงและประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามนโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
แรงงานต่างด้าวมีการเคลื่อนย้ายการทำงานสูงโดยไม่อยากทำงานกับนายจ้างที่ประกอบกิจการที่เป็นงานสกปรก งานหนักมากๆ และจะพยายามไปหางานทำกับนายจ้างที่มีงานทำที่สบายกว่า ทำให้นายจ้างต้องขาดแคลนแรงงานอีก
จะต้องรอให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ลุกลามไปอีกนานเท่าไรจึงหันมาแก้ไขกันอย่างจริงจัง