การป้องกันน้ำท่วม กทม.น่าจะมีการศึกษาถึงการสร้างเขื่อนกั้นปากแม่น้ำตั้งแต่ จ.เพชรบุรีไปจนถึง จ.ชลบุรี ซึ่งตัวเขื่อนจะมีความยาว 90 กิโลเมตร มีความสูง 38 เมตร และอยู่ห่างจากชายฝั่ง 40 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำและเก็บกักน้ำเหนือที่ไหลบ่ามาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะลดปัญหาน้ำทะเลหนุนและน้ำทะเลลงเพียงแค่วันละ 5- 6 ชั่วโมงเท่านั้น โดยจะมีการสร้างประตูน้ำเปิด-ปิด เพื่อให้เรือประมงผ่านเข้าออกได้ คาดว่าใช้งบประมาณแสนล้านบาท นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากการสร้างเขื่อนกั้นปากแม่น้ำอาจจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลขึ้นลง แถมยังช่วยป้องกันน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อนในอนาคตอีกด้วย
"ผมว่าน่าจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างเขื่อนกั้นปากแม่น้ำจาก จ.เพชรบุรีไปถึง จ.ชลบุรี หรือแก้มลิงปากแม่น้ำ เพราะหากว่ามีเขื่อนกั้นปากแม่น้ำแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนหรือแก้มลิงบนบก เพราะบางทีน้ำก็อาจจะไปท่วมที่ทำกินของชาวบ้าน นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำที่อ่าวไทยอาจจะผลิตไฟฟ้าจากน้ำขึ้นน้ำลงได้อีกด้วย หากการศึกษาเบื้องต้นเห็นว่าโครงการนี้ไม่เหมาะสมก็ค่อยยกเลิกโครงการไป" ศ.เกียรติคุณ ฉลอง กล่าว
นายสุรจิต ชิรเวทย์ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม และเจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวปี 2549 กล่าวถึงแนวคิดการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมว่า
พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นพื้นที่น้ำเหนือไหลผ่านอยู่แล้ว ซึ่งน้ำหลากลงมาสร้างประโยชน์ให้วิถีชาวเกษตรและประมง เพราะมีธาตุตะกอนอาหารสร้างความสมบูรณ์ให้พืชและสัตว์ทะเล แถมยังควบคุมปริมาณมด-ปลวก แต่ปัจจุบันคนไทยกำลังลืมรากเหง้าและวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยอยู่กันอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ
"อย่าไปต่อสู้กับธรรมชาติให้สิ้นเปลืองเงิน แต่ควรอยู่อย่างเป็นมิตรกับระบบน้ำหลาก มาสร้างบ้านที่ใต้ถุนสูงดีกว่า ขณะที่ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร เจอปัญหาแผ่นดินทรุดปีละ 3-5 ซม. เขื่อนกั้นลำน้ำก็ทรุดด้วย การแก้ปัญหาก็ไม่รู้จักจบสิ้น ส่วนการสร้างเขื่อนกลางทะเลยิ่งสร้างผลกระทบตามมาอีกมากมาย ขณะนี้เมืองไทยมีเขื่อนกว่าพันแห่งก็ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เลย" นายสุรจิต กล่าว
ขณะที่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า
โดยปกติทุกปีและในอดีตน้ำก็ท่วมพื้นที่ กทม.บางส่วนอยู่แล้ว หากจะกล่าวถึงน้ำท่วม กทม.แบบถาวรทั้ง 365 วัน คาดว่าคงไม่ใช่ใน 8-10 ปีข้างหน้านี้ แต่คาดว่าน่าจะอีก 50-80 ปีข้างหน้า อาจเกิดน้ำท่วมพื้นที่ กทม. บางส่วนอย่างถาวร โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดกับชายทะเล จึงควรมีแผนในการป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวและน้ำท่วมถาวรได้แล้ว ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า การสร้างเขื่อนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นทางออกหนึ่งที่พยายามต่อสู้ แต่ไม่ใช่ตัวเลือกเพียงข้อเดียว ควรใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน อย่างการวางแผนหนีหรืออพยพเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่น ซึ่งพื้นที่ กทม.อาจใช้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนได้ แต่ไม่ควรจะเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ อาจย้ายเมืองหลวงไปอยู่พิษณุโลกหรือลพบุรีก็แล้วแต่ ควรเริ่มต้นวางแผนกันแต่เนิ่นๆ เพราะเราไม่สามารถย้ายเมืองหลวงได้อย่างรวดเร็วเหมือนประเทศพม่า และอยากให้ดูตัวอย่างความล่าช้าในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
"เราเหลือเวลาอีก 50 ปี ซึ่งไม่ได้ยาวนานมากนัก ในการเตรียมรับมือป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนถนนหรือเส้นทางที่น้ำท่วมทุกปีเป็นเส้นทางเรือ หรือให้ช่วงที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปีเป็นช่วงวันหยุดประจำปี ซึ่งการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม กทม.ต้องร่วมกันคิดทุกๆ หน่วยงาน และไม่ควรเป็นการตัดสินใจของใครเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่การเป็นการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม" ดร.อานนท์ กล่าวทิ้งท้าย