เมื่อวันที่ 23 ก.ย.นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า
กระทรวงสาธารณสุขได้รับหนังสือแจ้งจากองค์การอนามัยโลก ประจำสวิสเซอร์แลนด์ว่า ในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ได้มอบเกียรติบัตร เชิดชูยกย่องประเทศต่างๆทั่วโลกที่ประสบผลสำเร็จในการจัดระบบการติดตามการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคในเด็ก ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดปัญหาการเสียชีวิตในเด็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 สามารถช่วยชีวิตเด็กได้เป็นล้านๆ คน
อย่างไรก็ตาม
ยังมีเด็กประมาณ 27 ล้านคนทั่วโลก ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนที่ควรจะได้ เป็นผลให้มีเด็กต้องเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนปีละกว่า 2 ล้านคน ทั้งนี้ ประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการจัดระบบเฝ้าระวังติดตามการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคในเด็กมี 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย อาร์เจนตินา ภูฏาน บราซิล อินโดนีเซีย เคนยา เม็กซิโก เนปาล ฟิลิปปินส์ ซิมบับเว ตุรกี สหรัฐอเมริกา และ
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า
จากการติดตามการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่าเด็กไทยปลอดการป่วยเป็นโรคโปลิโอมาเป็นเวลา 10 ปี ทำให้ไม่มีปัญหาเด็กพิการจากการป่วย แต่ปัญหาที่อาจทำให้เด็กไทยเสี่ยงเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนได้ ได้แก่ การเข้ามาอยู่ของคนต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน อาจนำเชื้อมาแพร่ให้เด็กไทยได้ ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้เร่งดำเนินการให้ภูมิคุ้มกันโรคเด็กต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกัน ได้จัดระบบเฝ้าระวังการเจ็บป่วยในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาได้กำหนดแผนการให้วัคซีนเด็กไทยให้ครบถ้วน โดยจัดส่งไปยังสถานบริการในสังกัดทั่วประเทศ และจัดทำสมุดบันทึกสุขภาพ บันทึกการให้วัคซีนเด็กเกิดใหม่ทุกราย ซึ่งมีปีละประมาณ 800,000 คน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง
โดยในปีนี้ ได้กำหนดจัดรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแก่เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีความเสี่ยง และเด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มาอาศัยในประเทศไทย เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรคโปลิโอให้สูงเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อโปลิโอที่มาจากนอกประเทศ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2550 และวันที่ 23 มกราคม 2551