จตุคามไปนอก

ช่วงที่จตุคามรามเทพกำลังเฟื่องฟูสุดขีดในสังคม และมีผู้ตั้งคำถามว่าจะรักษา "โมเมนตัม" อย่างนี้ให้อยู่ต่อไปได้อย่างไร


คนในแวดวงจตุคามฯ รวมทั้งผู้รู้อีกจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะต้องทำจตุคามฯ ให้เป็น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่งออก" ให้ได้ ใช้กำลังซื้อจากต่างประเทศมา "ต่อยอด" ว่าอย่างนั้นเถอะ

และมีผู้พยายาม "เปิดตลาด" จตุคามฯ อยู่เหมือนกัน

เช่นใน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น แต่ก็ยังจำกัดวงอยู่ในตลาดแคบๆ หรือถ้าจะไปตลาดตะวันตก ก็อยู่ในแวดวงคนไทยหรือชาติใกล้เคียงที่นับถือจตุคามฯ เหมือนกันมาหาเช่าเอาไป ไม่ได้มีตลาด "แท้ๆ" เกิดขึ้น เนื่องจากคนที่อื่นเขาไม่ได้เชื่อถือศรัทธาอย่างคนไทย ด้วยเหตุผลแรกสุดก็คือตำนาน หรือ "สตอรี่" ของจตุคามฯ ไม่ได้แพร่หลายออกไป (ส่วนแพร่ไปแล้วจะทำให้เขาเชื่อหรือไม่ก็อีกเรื่อง)

แต่วันนี้เรื่องจตุคามฯ "โก อินเตอร์" แล้ว


โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย เขียนรายงานเรื่องความแพร่หลายของศรัทธาและการตลาดจตุคามฯ ของเมืองไทยในเว็บไซต์บีบีซีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่คนไทยรู้กันอยู่แล้ว (แต่แน่นอนว่าต่างประเทศไม่รู้) ตั้งแต่โฆษณายักษ์บนตึกใบหยกทาวเวอร์ ประวัติขุนพันธุ์ ไปจนกระทั่งถึงคิวปลุกเสกที่แน่นเอี้ยดของวัดพระศรีมหาธาตุฯ และการเพิ่มเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช

รวมไปถึงมูลค่าการตลาด 22,000 ล้านบาทที่ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยเคยประเมินเอาไว้

เฮดระบุว่า ถึงคนไทยจะ "เล่นพระ" กันมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีวัตถุมงคลอะไรที่ได้รับความนิยมเท่าจตุคามฯมาก่อน ก่อนจะตบท้ายว่า เมื่อขึ้นถึงขีดสุด จตุคามฯ ก็ตกวูบลงมา และถึงจะไม่สามารถทำให้คนรวยทั่วหน้าอย่างที่ศรัทธากันได้ แต่ก็ทำให้คน (สร้าง) ไม่น้อยอู้ฟู่ไปแล้ว

ไม่รู้โกอินเตอร์แบบนี้ วงการจตุคามฯ จะชอบไหม?

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์