และมีต้นโตเต็มที่เหลือเพียง 10 ต้น รวมทั้ง ซ้อหิน Gmelina racemosa (Lour.) Merr. ซึ่งเป็นพืชวงศ์กะเพรา มีประชากรน้อย ส่วนดาดชมพู (Begonia sp.) เป็นพืชล้มลุกที่ยังไม่มีรายงานการค้นพบที่ไหนมาก่อน กำลังตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญวงศ์นี้อยู่ และพบแห่งเดียวที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ และอยู่ในบริเวณเส้นทางที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
“ขณะนี้สำนักงานหอพรรณไม้เร่งสำรวจและจำแนกพรรณไม้ให้ได้อย่างน้อย 40% ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะสถานภาพปัจจุบันป่าไม้ไทยมีอัตราการถูกทำลายไปมาก ขณะที่ข้อจำกัดด้านบุคลากรทำให้การทำงานเป็น ไปได้ช้า ดังนั้น ตั้งเป้าจะศึกษาและจำแนกพืชวงศ์ใหญ่ ที่มีจำนวนชนิดมากกว่า 100 ชนิดขึ้นไป ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอีก 5 ปีให้ได้อีก 40% เช่น พืชวงศ์เข็ม พืชวงศ์ดาด พืชวงศ์หญ้า เป็นต้น โดยคาดหวังจะได้พืชจำแนกพืชได้ราว 7,600 ชนิดจากพรรณพฤกษชาติทั้งหมดของประเทศไทยที่มีมากกว่า 10,000 ชนิดต่อไป”ดร.ก่องกานดากล่าว
ด้านนายกันย์ จำนงค์ภักดี จากกองคุ้มครองพันธุ์ สัตว์ป่าและพืชป่า ตามอนุสัญญาไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเผยว่า
จากการสำรวจสถานภาพและการกระจายของชนิดพืชถิ่นเดียว หายากหรือใกล้ สูญพันธุ์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่า กล้วยไม้ถิ่นเดียวในดอยหลวงเชียงดาว คือ รองเท้านารีเมืองกาญจน์อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว จากแหล่งตามธรรมชาติบนดอยเชียงดาว เนื่องจากไม่พบอีกเลยในการสำรวจ ทั้งที่เคยมีในรายงานจากการตรวจสอบเอกสาร ขณะที่รองเท้านารีฝาหอยก็อยู่ในสภาพถูกคุกคามอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากพบว่ายังมีการลักลอบเก็บออกมาชนิดที่เรียกว่าล้างบาง เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในเมืองเชียงใหม่และตลาดนัดจตุจักร เนื่องจากมีดอกสวยงาม โดยราคาขายในตลาดเฉลี่ย 500 บาทต่อต้น ขณะที่เก็บจากป่าจะได้ราคาต้นละ 100-200 บาท ทำให้สภาพลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาว จากที่เคยพบมากขณะนี้เริ่มหายากเต็มทีแล้ว โดยกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ที่ขึ้นตามเขาหินปูน