ประกันสังคมเตรียมคลอดกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้ 20 ต.ค. เป็นต้นไป ชูสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ลุ้นมนุษย์เงินเดือนอาจต้องจ่ายเงินสมทบรายเดือนเพิ่ม หลังจาก ปกส. เตรียมขยายเพดานการจ่ายเงินสมทบเพิ่มจากเพดานสูงสุด 750 บาทต่อเดือนเป็น 1,000 บาทต่อเดือน
นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2558 จะมีผลบังคับใช้ โดยสาระสำคัญของกฎหมายใหม่นี้ เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น ในทุกกรณีทั้งการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ชราภาพ และเสียชีวิต ซึ่งการขยายขอบเขตของสิทธิประโยชน์ในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ สปส. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 4,500 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ สปส. มีแนวทางในการหารายได้เข้าสู่กองทุนประกันสังคมเพิ่ม ประกอบด้วยการขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบจากเดิมต่ำสุด 1,650 บาทต่อเดือน และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน อาจปรับเพิ่มเป็นฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 3,000 บาทต่อเดือน และสูงสุดกว่า 20,000 บาทต่อเดือน
สำหรับความคุ้มครองในกฎหมายใหม่ที่เพิ่มขึ้น อาทิ กรณีว่างงานจะเพิ่มความคุ้มครองกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น โรงงานถูกน้ำท่วม จะได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือน โดยผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน, ในกรณีเจ็บป่วยเรื้อรัง/ ทุพพลภาพและเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าทำศพ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ และส่วนกรณีคลอดบุตรจะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยจ่ายครั้งละ 13,000 บาท รวมกับเงินสงเคราะห์การหยุดงานทั้งฝ่าย สปส. และนายจ้าง รวม 90 วัน เป็นต้น
ทั้งนี้ การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนในปัจจุบัน อัตราสูงสุดจะอยู่ที่ 5% ของเงินเดือน โดยเพดานสูงสุดอยู่ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท นั่นหมายถึงการจ่ายเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน หากมีการปรับฐานเงินเดือนขึ้นไปสูงสุดที่ 20,000 บาท นั่นหมายถึงการที่จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาทต่อเดือน
สิทธิประโยชน์จาก พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2558