เราอาจจะไม่รู้จัก เราอาจจะไม่เคยได้ยิน และเราอาจจะไม่เคยเห็นหน้า
เพราะเขาถูกถอดออกจากทุกตำแหน่งทันที ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ภายหลังจากที่มีการถ่ายทอดสด "การปราบ" ในวันนั้น
และนั่นคือผู้ชายที่ชื่อว่า "สรรพสิริ วิริยศิริ" ผู้บุกเบิกวงการโทรทัศน์ไทย
ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อ "การปราบ" เกิดขึ้น
สถานีโทรทัศน์ "เพียงช่องเดียว" ที่เปิดทำการอย่างกล้าหาญ และนำเสนอข่าวความเป็นไปที่ธรรมศาสตร์คือ ช่อง 9
โดย สรรพสิริ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า
"ในบริษัทตอนนั้น ผมเป็นคนเดียวที่สั่งเปิดวิทยุและโทรทัศน์ได้ ผมก็เลยสั่งเปิดเพื่อออกข่าวให้ประชาชนได้เห็นสภาพการที่แท้จริง โดยรักษาความเป็นกลางที่สุด เสนอภาพที่ตรงไปตรงมายกเว้นภาพรุนแรง สยดสยอง ก็ต้องตัดออกไป เราไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด เพราะเหตุการณ์ที่เกิด ฝ่ายหนึ่งอาจจะถูก อีกฝ่ายอาจจะผิด หรือไม่มีใครถูกเลย หรือไม่มีใครผิดเลย เราไม่มีหน้าที่จะไปวินิจฉัย ไม่มีหน้าที่ไปตัดสิน ไม่มีแม้แต่หน้าที่จะไปปิดบังความจริงเท่าที่เรามีอำนาจและประชาชนควรจะรู้"
สรรพสิริ ได้เคยกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่าเขาไม่เคยเสียใจที่ได้เลือกที่จะทำเช่นนั้น
และเขาเชื่อว่าการกระทำของเขาได้ช่วยชีวิตคนจำนวนมาก
พร้อมทั้งยังได้เสนอ "ความจริง" ให้สังคมได้รับรู้
"สื่อควรเสนอความเป็นจริง ไม่ใช่ความเป็นกลางเพราะความเป็นกลางอยู่ที่ว่าใครเป็นคนตัดสินและขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนซึ่งอาจเอนเอียงไปบ้าง แต่ความจริงอย่างไรก็คือความจริง"
เคยมีคนบอกกับเราว่า "ไม่เคยมีคนตายที่ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519"
ถ้าหากไม่มี สรรพสิริ วิริยศิริ เราคงจะยังเถียงกันอยู่ว่า "ตกลงมีคนตายหรือไม่?"
ถ้าหากไม่มี สรรพสิริ วิริยศิริ เราอาจจะไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นที่สนามหลวงกันแน่ในวันนั้น
ถ้าหากไม่มี สรรพสิริ วิริยศิริ เราคงไม่มีทางรู้ว่า "อะไร" คือ "ความจริง"
ในทำนองเดียวกันถ้าไม่มี 6 ตุลา 2519 สรรพสิริ ก็อาจจะเป็นผู้ประกาศข่าวมือทองในตำนานไปแล้ว
เขาถูกปลดทันทีในวันเดียวกันที่การเผยแพร่ภาพออกไป
ถูกอายัดบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด
ต้องหลบออกไปอยู่ที่อื่นนอกกรุงเทพ
และก็ไม่ได้กลับมาทำอาชีพนี้อีกเลย
ชีวิตของสรรพสิริ วิริยศิริ ในช่วงปี พ.ศ.2519 ทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยในปีนั้นและในปี 2559 ยังคงเหมือนกันอย่างน่าประหลาด
เราอาจจะมีนิยามความสวยหล่อที่ต่างกัน
นิยมสะสมของคนละแบบกัน
มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน
แต่บางทีเราอาจจะยังเป็นสังคมที่มีวิธีคิดแบบเดียวกัน
คือสังคมที่พิพากษาให้ใครอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้โดยง่าย
และคิดว่าใครที่ไม่ทำอย่างที่ตัวเองทำ เป็นฝ่ายตรงข้ามไปเสียหมด
เราอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า เราเห็นด้วยกับ สรรพสิริ วิริยศิริ
ที่เชื่อในการนำเสนอ "ความจริง" เพื่อให้สังคมได้ใช้ "วิจารญาณ"
ที่เชื่อในอาชีพ "สื่อมวลชน"
เพราะมันเป็นกุญแจที่นำความจริงออกไปสู่สังคม
เป็นประตูที่เปิดให้คนตัวเล็กๆ ได้มีสิทธิพูด ได้มีสิทธิออกความเห็น
เป็นหน้าต่างที่สังคมจะได้มองออกไปเพื่อเห็นโลกอย่างที่มันเป็น
เป็นเหมือนกล้องวิดิโอในรถทำข่าวคันเดียวคันนั้นของสรรพสิริ
ที่บันทึกเสียง ภาพ เรื่องราว ชีวิต ความเจ็บปวด
เพื่อให้ความทรงจำกลายเป็นประวัติศาสตร์ และได้รับใช้สังคมในฐานะเครื่องเตือนและเครื่องเรียนรู้
ในวาระครบ 40 ปี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
เราอยาก "ขอบคุณ" สรรพสิริ วิริยศิริ
ผู้ที่ทำให้ความทรงจำไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเลื่อนลอย
แต่เป็นความจริงที่เราจำได้
"ขอบคุณ" สรรพสิริ วิริยศิริ
"ขอบคุณ" ประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กๆ ที่สร้างเรื่องใหญ่ๆ