กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ กรณีสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ว่ารัฐบาลไทยติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ด้วยความห่วงใยและสนับสนุนถ้อยแถลงของประธานอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาประณามการโจมตีตำรวจในยะไข่ และความรุนแรงที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตพลเรือน โดยไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา จนทำให้รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญามาโดยตลอด ถึงกับถอนตัวไม่เข้าร่วมในแถลงการณ์ฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญและให้ความคุ้มครองผู้หนีภัยจากเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด เห็นได้จากการที่ไทยดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ที่อาศัยอยู่ในเขตแดนไทยเป็นเวลากว่า 30 ปี และในปัจจุบันมีผู้หนีภัยจำนวนมากกว่าแสนคนพักพิงอยู่ในไทย ขณะที่องค์กรด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยยืนยันว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามชายแดนไทยเหล่านี้ ไม่มีชาวโรฮิงญารวมอยู่ด้วย
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในรัฐยะไข่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศเปิดเผยว่าฝ่ายไทยได้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจำนวน 200,000 ดอลลาร์ให้แก่รัฐบาลเมียนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เมื่อเดือนตุลาคม 2559 และล่าสุด จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ไทยจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่และในฝั่งบังกลาเทศ โดยมอบเงินช่วยเหลือให้เมียนมาและบังกลาเทศประเทศละ 5 ล้านบาท ผ่าน Red Cross Movement และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC รวมทั้งจะให้ความช่วยเหลือระยะกลางและระยะยาวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กระทรวงต่างประเทศไทยยังยืนยันอีกด้วยว่าจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในรัฐยะไข่เมื่อปลายเดือนสิงหาคมในไทย
ท่าทีดังกล่าวถือเป็นท่าทีอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลไทย นับตั้งแต่เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญาไหลเข้าบังกลาเทศหลังความรุนแรงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา และขัดแย้งกับท่าทีอย่างไม่เป็นทางการของฝ่ายความมั่นคง ที่ก่อนหน้านี้มีสื่อต่างประเทศยืนยันว่ากองทัพเรือไทยจะผลักดันชาวโรฮิงญาที่พยายามหลบหนีเข้ามายังพรมแดนไทยออกไปตามระเบียบ เพราะถือว่าคนเหล่านี้เป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์เพิ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยอย่าผลักดันผู้ลี้ภัยโรฮิงญา และออกกฎหมายรองรับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการเพื่อปกป้องผู้ที่หลบหนีความรุนแรงจากบ้านเกิด
การออกแถลงการณ์ของไทยเกี่ยวกับประเด็นโรฮิงญาเกิดขึ้นเพียง 1 วันก่อนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย จะเดินทางไปพบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้ว่าไทยต้องการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ก่อนการพบกับผู้นำสหรัฐฯเนื่องจากสหรัฐฯมีบทบาทชัดเจนในการเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ความรุนแรงรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา สหประชาชาติรายงานว่ามีชาวโรฮิงญาลี้ภัยเข้าไปยังบังกลาเทศแล้วกว่า 500,000 คน กลายเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ และเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยกว่า 60 รายจมน้ำเสียชีวิตขณะพยายามล่องเรือมายังบังกลาเทศในช่วงเวลากลางคืน