นายสุชินกล่าวว่า เมื่อตรวจสอบดูแล้ว ทำให้ทราบสาเหตุว่าการที่ตนไม่ได้บัตรคนจนครั้งนี้เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ไปเช็คบัญชีรายรับรายจ่ายต่างๆของตนจากธนาคารซึ่งพบว่าตนมีเงินในบัญชีหมุนเวียนมากกว่า 1 แสนบาท แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่เฉลียวใจหรือสอบถามข้อเท็จจริงใดๆจากตนและตัดสิทธิ์ทันที ทั้งๆที่เงินในบัญชีต่างๆนั้น เป็นเงินของมูลนิธิฯและสมาคมคนไร้บ้าน ซึ่งตนเป็น 1 ใน 3 คนที่มีชื่อ เพราะตามหลักเกณฑ์คือต้องให้มีชื่อ 2 ใน 3 ลงนามถึงจะเบิดนำมาใช้ได้ โดยบางบัญชีเป็นเงินที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)โอนมาให้เพื่อการสร้างศูนย์พักพิงให้กับคนไร้บ้าน
"ผมบอกกับเพื่อนไปว่า ถ้ากูมีรายได้เดือนละแสนบาท กูไม่มาอยู่อย่างนี้หรอก มีคนบอกให้ไปอุทธรณ์ ผมไม่อุทธรณ์หรอก อยู่มันอย่างนี้แหละ ขี้รถซาเล้งเก็บของเก่าขายต่อไป มันสะท้อนการทำงานของรัฐดี ข้าราชการก็ชุ่ย ไม่ตรวจสอบหรือถามเราสักคำ" ลุงดำ กล่าว
นายสุชินกล่าวว่า ตนออกมาเร่รอนตั้งแต่ปี 2547 เพราะอยู่บ้านก็ไม่มีอะไรทำ จนเดี๋ยวนี้อายุ 63 ปีแล้ว ก็ยังยึดอาชีพเก็บของเก่าขาย แต่ปัจจุบันหากินลำบากขึ้น เพราะขวดน้ำและกระป๋องต่างๆหายากขึ้นเพราะเศรษฐกิจในระดับล่างไม่ดี ขณะที่คนมีเงินหรือมีรายได้ต่างก็อดออมโดยเก็บขวดและกระป๋องไปขายกันเอง หลายครั้งที่ไปจอดซาเล้งเอาของที่เก็บได้ไปขายตามร้านรับซื้อของเก่า พบว่ามีเจ้าของรถเก๋งและรถกะปะขนขวดพลาสติกและกระป๋องไปกันเอง นอกจากนี้ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่เข้ามาหากินในประเทศไทย พอตกเย็นต่างหารายได้พิเศษด้วยการเก็บของเก่าขาย ดังนั้นจึงทำให้คนไร้บ้านหากินยากขึ้นทุกวัน
"ทุกวันนี้ผมเก็บของขายได้เฉลี่ยวันละ 150 บาท หักค่าน้ำมันรถซาเล้งอีก 50-60 บาท เหลือพอกินข้าวราววันละ 100 บาท แต่ผมไม่ซีเรียสหรอกกับบัตรคนจน เพราะดูแล้วเราแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร เขาบอกว่าไม่ต้องเสียค่าน้ำค่าไฟ ทุกวันนี้บ้านที่เราอาศัยอยู่ ต้องต่อน้ำต่อไปจากบ้านอื่น เพราะบ้านเราไม่มีเลขที่บ้าน ดังนั้นจึงไม่มีผลกับเรา ที่เขาบอกจากให้คนจนขึ้นรถเมย์หรือรถไฟฟรี ดูๆไปก็เท่านั้นแหละ ทุกวันนี้แค่ควักบัตรบัตรประชาชนออกมาขอลดราคาสำหรับผู้สูงอายุก็ถูกกระเป๋ารถเมย์เขม่น มองแบบดูถูกดูแคลน สู้เรายอมจ่ายตั๋ว 9 บาทซื้อความสบายใจดีกว่า" นายสุชิน กล่าว