ออกแถลงการณ์กรณีน.ศ.แพทย์เบื่อหมาเอาประกัน คณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาลสั่งพักการศึกษา เบื้องต้น พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางจริยธรรม หากพบว่ามีปัญหาต่อวิชาชีพทางด้านการแพทย์ก็จะให้พ้นสภาพนักศึกษาต่อไป อธิการบดีเผยผลสอบสวนเจ้าตัว-ครอบครัว พบว่ามีอาการทางจิตย้ำคิดย้ำทำมาตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 3 และพักการเรียนมาเป็นระยะๆ สาเหตุที่ยังไม่จบการศึกษาเพราะสอบไม่ผ่านวิชาอายุรศาสตร์ ด้านผกก.สน.สุทธิสารออกหมายเรียกให้ปากคำพนักงานสอบสวนคดีฉ้อโกงวันจันทร์หน้า ขณะที่คดีทารุณกรรมสัตว์นั้นต้องสอบพยานให้ชัดก่อน ด้านสภ.โพธิ์กลาง จ.นครราชสีมา ส่งยาที่ผ่าพบในกระเพาะสุนัขไปตรวจสอบแล้วว่าเป็นชนิดใด จากนั้นจะสรุปว่าสมควรออกหมายเรียกแจ้งข้อหาใด
จากกรณีกลุ่ม Watchdog Thailand หรือ WDT และบริษัทรับขนส่งสุนัขได้เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.สุทธิสาร เพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนักศึกษาแพทย์ สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ก่อเหตุวางยาสุนัขเพื่อเรียกเอาเงินประกันจากบริษัทขนส่ง ในข้อหาพยายามฉ้อโกง และตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 11 ก.ย พ.ต.อ. เติมเผ่า สิริภูบาล ผกก.สน.สุทธิสาร เปิดเผยว่าพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ส่งไปยังภูมิลำเนาของน.ศ.แพทย์คนดังกล่าว ในจ.นครราชสีมา ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันจันทร์ที่ 18 ก.ย. เวลา 10.00. น. ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้พยายามประสานไปยังนักศึกษาแพทย์คนดังกล่าวให้เข้ามาให้ปากคำ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้ เบื้องต้นเข้าข่ายความผิดในข้อหาพยายามฉ้อโกง เพราะมีการหลอกลวงแล้วแต่ยังไม่ได้เงินไป เป็นความผิดที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว
ส่วนข้อหาทารุณกรรมสัตว์ที่กลุ่ม Watchdog Thailand เข้ามาแจ้งความนั้น พ.ต.อ.เติมเผ่ากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามีการทารุณกรรมสัตว์เกิดขึ้น แต่ทางตำรวจจะพยายามรวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ติดตามประวัติพนักงานโรงแรมเก่าในซอย ลาดพร้าว 18 ที่ลาออกไปแล้วเรียกมา สอบปากคำเพิ่มเติม เพื่อหาหลักฐานเพิ่มว่ามีพนักงานคนใดบ้างที่อยู่โรงแรมในวันเกิดเหตุ ได้เข้าไปทำความสะอาดห้องพบเม็ดยาหล่นอยู่หรือไม่ และพบเห็นการป้อนยาหรือไม่ หากพบยาก็จะนำไปเปรียบเทียบกับยาที่พบในสุนัขตัวที่ 2 ว่าเป็นยาชนิดเดียวกัน คล้ายกัน หรือตัวยาเดียวกันหรือไม่
พ.ต.อ.เติมเผ่ากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้สอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องไปครบถ้วนแล้ว ทั้งบริษัทขนส่ง และเจ้าของฟาร์มสุนัข หากนักศึกษาแพทย์จะอ้างว่ามีอาการป่วยทางจิต หากมาพบเจ้าหน้าที่ก็จะส่งตัวให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าป่วยจริงหรือไม่ หากป่วยจริงก็ว่าไปตามกระบวนการกฎหมายที่นักศึกษาแพทย์จะใช้ในการต่อสู้คดี จากการตรวจสอบประวัติอาชญากร ในเบื้องต้นยังไม่พบประวัติการก่อเหตุใดๆ
วันเดียวกัน พ.ต.ท.พิชัย เชิดชู รองผกก.สภ.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่าพนักงานสอบสวนได้เรียกตัวพนักงานขับรถบริษัทรถขนส่งสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในเหตุการณ์ มา สอบปากคำ แต่เนื่องจากว่าพนักงานขับรถมีอาการล้าจากการเดินทางไปให้สัมภาษณ์ สื่อต่างๆ จึงได้ขอเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 12 ก.ย. แทน ส่วนยาที่ทางโรงพยาบาลสัตว์เซ็นเตอร์เพ็ท จำนวน 13 เม็ด ที่ผ่าได้จากกระเพาะสุนัข และนำมามอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น สภ.โพธิ์กลางก็จะได้นำส่งไปให้ศูนย์วิทยา ศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา เพื่อตรวจสอบว่าเป็นยาชนิดใด ก่อนนำมาเขียนประกอบในสำนวนคดี ทั้งนี้อาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 30 วัน จึงจะทราบผลการตรวจสอบชนิดของยา ส่วนเรื่องคดีนั้น ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับใคร เพราะก็ต้องมีการรวบรวมหลักฐาน และเรียกตัวพยานมาสอบปากคำอย่างครบถ้วนก่อน
ด้านนายสัตวแพทย์ รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สาเหตุของการให้ยาสัตว์ และก่อให้เกิดอันตรายจนเสียชีวิต ส่วนใหญ่พบในแมว และสุนัข เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคน และคิดว่ายาคนและยาสัตว์ไม่แตกต่างกัน แต่ความจริงแล้ว ระบบร่างกายในคน และสัตว์ ต่างกันมาก เพราะมีเพียงส่วนน้อยของยาในคนที่ใช้ร่วมในสัตว์ได้ และบางชนิดก่อให้เกิดการตกค้างในตับและไตของสัตว์ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ในแมว กระเพาะของสุนัข และห่าน ไม่ย่อยช็อกโกแลต
คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่าส่วนปริมาณของยาก็มีผล หากให้มากเกินไป จะทำให้ตายได้ สำหรับวิตามินในสัตว์ ส่วนใหญ่ให้กินแค่ครั้งละ 1 เม็ด ต่อวัน ทั้งนี้ เพื่อให้ขนสวย เงางาม เหมาะสำหรับสุนัข และแมวที่ส่งประกวด ไม่ต่างจากวิตามินในคน แต่หากเกินขนาด จะเกิดการสะสม และเกิดอันตรายได้
เมื่อเวลา 11.30 น. วันเดียวกัน ที่โรงพยาบาลศิริราช น.พ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีแพทยศาสตร์ศิริราชและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้สอบปากคำนักศึกษาแพทย์ที่ก่อเหตุวางยาฆ่าสุนัขหวังเรียกเงินประกัน และพ่อแม่ของนักศึกษาแพทย์คนดังกล่าว ที่ห้องคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มีผู้สื่อข่าวเดินทางมารอ ทำข่าวเป็นจำนวนมาก โดยจะสรุปผลการสอบสวนและแถลงข่าวในช่วงเย็น
ต่อมาเมื่อเวลา 16.30 น. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์เป็นประธานการแถลงข่าวเรื่อง "นักศึกษาแพทย์ถูกกล่าวหาการทำร้ายสุนัข และเรียกร้องเงินประกัน" ที่ห้องประชุมคณะ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 ร.พ.ศิริราช จากการประชุมคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วาระพิเศษ ระหว่างเวลา 11.30- 13.00 น. วันเดียวกัน มีมติดังนี้
1.ให้นักศึกษาแพทย์ที่ถูกกล่าวหาพักการศึกษาตั้งแต่บัดนี้จนกว่าผลการตัดสินการดำเนินการตามข้อ 2, 3 และ 4 จะสิ้นสุด
2.ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางจริยธรรมกับนักศึกษาดังกล่าว หากประเมินแล้วมีผลตัดสินว่ามีความผิดทางจริยธรรมจริง ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะดำเนินการส่งเรื่องไปยังมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อดำเนินการต่อไป ตามเกณฑ์ความผิดด้านจริยธรรม
3.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะเฝ้าติดตามการรักษาปัญหาด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด หากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจได้รับการประเมินว่า มีความรุนแรงขัดต่อการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ ก็จะเสนอมหาวิทยาลัยมหิดลพิจารณาให้พ้นสภาพนักศึกษา
4.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าของกระบวนการยุติธรรม หากมีผลทางอาญาเป็นที่สิ้นสุดและมีความผิด ก็จะเสนอมหาวิทยาลัยมหิดลให้พิจารณาให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้นักศึกษาแพทย์รายดังกล่าวอยู่ระหว่างพักการเรียน เนื่องจากมีภาวะย้ำคิดย้ำทำตั้งแต่ช่วงปี 3 จึงได้พักเรียนมาเป็นระยะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่พักการเรียน โดยพักมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ส่วนอาการนั้นไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพราะเป็นความลับคนไข้ หากต่อไปแพทย์พบว่าอาการป่วยขัดต่อวิชาชีพ หรือผลตัดสินออกมาว่าผิดทางอาญา คณะกรรมการก็จะพิจารณาให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ทั้งนี้ ได้พูดคุยสอบถามข้อมูลจากตัวนักศึกษาวันเดียวกันนี้ก็พบว่าข้อมูลบางอย่างไม่ตรงกับที่สื่อนำเสนอไปก่อนหน้านี้ คณะกรรมการก็จะนำไปพิจารณาก่อนจะตัดสิน
"ไม่สามารถพูดได้วันนี้ว่าผิดหรือไม่ผิดเพราะจะเป็นการตัดสินเพียงคนเดียว ต้องรอให้คณะกรรมการสรุปข้อมูลและตัดสินอย่างตรงไปตรงมา ที่ผ่านมาหากพบว่านักศึกษามีอาการป่วยหรือมีสิ่งใดที่จะขัดต่อวิชาชีพก็จะไม่ปล่อยให้จบอยู่แล้ว โดยการสอบสวนและตัดสินในเรื่องดังกล่าวจะใช้เวลาอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด เบื้องต้นที่ได้พูดคุยกับนักศึกษาก็พบว่ามีความกังวล มีอาการเครียด รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำ ไม่อยากให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในวิชาชีพแพทย์"
รศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เป็นเพราะนักศึกษาแพทย์ไม่ผ่านรายวิชาอายุรศาสตร์จึงยังไม่จบ ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะให้โอกาสให้การเรียนแพทย์ได้ถึง 12 ปี หากมากกว่านี้คือไม่จบ มีโรคบางโรคที่ไม่สามารถให้จบได้ เช่น โรคจิตเภท แต่การย้ำคิดย้ำทำไม่ใช่จิตเภทแต่อย่างใด