คมนาคม ตีกลับแผนฟื้นฟู ขสมก. หลังแบกหนี้อ่วมกว่า 1 แสนล้านบาท เหตุขาดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน สั่งทำใหม่ให้เสร็จภายใน 2 เดือน ขณะที่ ขสมก. เตรียมปลดพนักงานเก็บค่าโดยสาร 2 พันคนในปี 62 เดินหน้าของบปี 61 จ้างออกคนละ 1 ล้านบาท
นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมแผนจัดการบริหารหนี้สินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วานนี้ (28 ส.ค.) ว่า ขสมก.ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่ง ณ เดือน ม.ค. 60 มียอดหนี้รวม 103,598.543 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ให้รัฐรับภาระหนี้ทั้งหมด 103,598.543 ล้านบาท
2.ให้รัฐรับภาระเฉพาะหนี้ที่เกิดมาจากนโยบายภาครัฐ 84,898.651 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ (PSO) หรือเงินที่เกิดจากการตรึงค่าโดยสารอัตราต่ำกว่าต้นทุนตามนโยบายรัฐบาลเฉลี่ยคันละ 3,000 บาท/วัน และบริการรถเมล์ฟรี เฉลี่ยคันละ 10,000 บาท/วัน ซึ่งมีจำนวน 800 คัน/ปี และส่วนที่เหลืออีก 18,699.892 ล้านบาท ขสมก.จะรับภาระเอง และ 3.ให้รัฐรับภาระ PSO ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพราะปัจจุบัน ขสมก. มีต้นทุนสูงกว่ารายได้ โดยรัฐต้องรับภาระรวม 55,798.089 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 47,800.453 ล้านบาท ขสมก.จะรับภาระเอง