20 สิงหาคม ถนนสายตะกั่วป่า-สุราษฎร์ธานี เผชิญกับพายุฝนกระหน่ำ รวมถึงน้ำป่าไหลหลาก จนพื้นถนนจมอยู่ใต้น้ำกว่า 1 เมตร อ.ตะกั่วป่า สั่งปิดโรงเรียนกว่า 10 แห่ง บ้านเรือนราษฎรจมน้ำกว่า 1,500 หลังคาเรือน ชาวบ้าน ต.บางเตย รายหนึ่ง แสดงความวิตกว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบน้ำท่วมมาก่อน เพราะพังงาเป็นเมืองชายฝั่งทะเล สาเหตุอาจเกิดจากภาวะโลกร้อน และการบุกรุกทำลายป่าโกงกางโดยกลุ่มธุรกิจบ่อกุ้ง
นายทศพร นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า
ภาวะโลกร้อนได้กัดเซาะชายฝั่งทะเลทั่วประเทศไทยแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ จากภาวะน้ำทะเลที่เพิ่มสูง ลมแรง และการกระทำของมนุษย์ ส่วนดินถล่มก็เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้น ประชาชนควรตระหนักว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัว สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นางจงกลณี อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ยอมรับว่า ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศแปรปรวนมากขึ้น โดยสถิติในรอบ 30 ปี ปริมาณน้ำฝนน้อยลง แต่ปริมาณพายุรุนแรงมากขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาจึงตั้งศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของอากาศ ร่องมรสุม เพื่อเตือนภัยและเฝ้าระวังแล้ว
ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิเคราะห์ว่า
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก เหตุการณ์หิมะตกที่อาร์เจนตินา หรือน้ำท่วมที่ จ.พังงา ยังไม่มีนักวิชาการยืนยันว่า เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนหรือไม่ แต่อาจเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก "น้ำท่วม หรือหิมะตกเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน อาจจะไม่เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนก็ได้ แต่ถ้าเกิดถี่ขึ้น หรือบ่อยขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ก็มีแนวโน้มว่าเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน ส่วนกรณีภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสะท้อนให้เห็นความไม่พร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องประเมินการรับมือใหม่ และต้องทำความเข้าใจเรื่องความแปรปรวนของอากาศ เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นวันนี้รุนแรงกว่าในอดีต" ดร.อานนท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม องค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา ว่า
ปัญหาโลกร้อนจะเป็นวาระหลักของการประชุมสมัชชายูเอ็นประจำปีนี้ เพื่อให้ทุกประเทศร่วมมือกันหาทางแก้ไข โดยรายงานจากยูเอ็นระบุว่า ภายใน 20 ปีนี้โลกจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลถึงปีละ 7.14 ล้านล้านบาท (2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อต่อสู้กับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง