นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะหาแหล่งเงินเพิ่มในกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งปัจจุบันได้รับจัดสรรเงินจากงบประมาณแต่ไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยจะให้เอกชน และรัฐวิสาหกิจ บริจาคเงินเข้ากองทุน และสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ซึ่งจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเร็วๆ นี้
สำหรับมาตรการสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย จะมีการเสนอ ครม.ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะใช้วงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ส่วนสวัสดิการจะมีทั้งขึ้นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี รถ บขส. ค่าก๊าซหุงต้ม ซื้อสินค้าร้านธงฟ้า ซึ่งในวันที่ 21 ก.ย.60 จะเริ่มแจกบัตรสวัสดิการกับผู้ที่มีสิทธิ์ผ่านคุณสมบัติประมาณ 11 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 14 ล้านคน เนื่องจากมีผู้ขาดคุณสมบัติ เพราะมีรายได้เงินฝาก ทรัพย์สิน ที่ดิน เกินที่กำหนดไว้
ด้านร้านค่าธงฟ้า และหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการไฟฟ้า การประปา รวมถึงรถไฟ ได้ติดตั้งเครื่องรับบัตรเตรียมพร้อมแล้ว ส่วน ขสมก. อยู่ระหว่างทยอยติดตั้ง ในส่วนค่ารถเมล์ ขสมก.นั้น เมื่อตั๋วร่วมบัตรแมงมุมของกระทรวงคมนาคมเสร็จ ผู้มีรายได้น้อยจะสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ด้วย ขณะที่ร้านธงฟ้าจะมีการเพิ่มสินค้า เช่น เครื่องแบบนักเรียน และสินค้าเกษตร เพื่อช่วยเหลือผู้รายได้น้อย
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในอนาคตการเก็บข้อมูลผู้มีรายได้น้อยจากการลงทะเบียนและสำรวจจะนำมารวมเป็น Big Data เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆโดยไม่ต้องลงทะเบียนอีก ซึ่งจะนำมาใช้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการโอนเงินภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือ NIT (Negative Income Tax) ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งคาดว่าจะนำมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระยะที่ 2 ต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้พบปัญหาอยู่ 4 ด้านที่ต้องเร่งแก้ไขและให้ความช่วยเหลือ ทั้งการติดกับดักรายได้ปานกลาง สังคมผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นในอนาคต ทำให้เป็นภาระกับงบประมาณ ความเหลื่อมล้ำที่ได้ดำเนินการช่วยผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบัน และการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยมีนโยบายภาษีลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2)จากรถยนต์มาเป็นสูตรคำนวณภาษี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนฯ 14.2 ล้านคนแล้ว โดยมีการกลั่นกรองถึง 2 ชั้น ทั้งการตรวจสอบผ่านบัญชีธนาคาร กระทรวงมหาดไทย รวมถึงให้นักศึกษาลงพื้นที่ไปสำรวจเก็บข้อมูล ซึ่งพบว่ามีผู้ถูกตัดสิทธิไป 2.6 ล้านคน เพราะมีรายได้และทรัพย์สินเกิน 1 แสนบาท ทำให้เหลือจำนวนผู้ผ่านหลักเกณฑ์ 11.6 ล้านคน
"ในการตรวจสอบคุณสมบัติจะทำอย่างละเอียด เพราะในการลงทะเบียนมีจำนวนมาก และยังพบคนจบปริญญาเอกมาลงทะเบียนถึง 600 คน และจบปริญญาโทลงทะเบียน 6,000 คน ซึ่งต้องเข้าไปดูว่าคนที่เรียนจบสูงแบบนี้ทำไมถึงมาลงทะเบียน หากพบว่าเป็นคนเก่งและมีความสามารถอาจชวนเข้ามาทำงานที่สศค."
สำหรับการแจกสวัสดิการระยะสอง คาดว่าจะได้ข้อสรุปและดำเนินการได้ต้นปีหน้า โดยมีเรื่องการเติมเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ในรูปแบบเงินคืนภาษีคนจน หรือเนกาทีฟ อินคัม แท็กซ์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รมว.คลัง โดยดูว่าจะมีขั้นตอนปฏิบัติอย่างไรที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทำบัญชีครัวเรือน หรือการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งเดิมให้กรมสรรพากรตรวจสอบให้ แต่เนื่องจากกรมสรรพากรมีภาระเยอะ จึงเปลี่ยนไปประสานกับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติบัญชีครัวเรือนว่าจะแทน
อย่างไรก็ตาม การให้เงิน คงไม่สามารถให้ทุกคนได้จนมีรายได้ครบ 30,000 บาทต่อปี เนื่องจากมีคนกลุ่มนี้อยู่จำนวนมากถึง 7-8 ล้านคน ที่สำคัญในจำนวนนี้มีประมาณ 3 ล้านคนที่ไม่มีรายได้เลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมาเติมเงินให้ครบทั้งหมด แต่จะให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยมีเงื่อนไขในการเข้ามาพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ ขณะที่คนที่มีความยากจนซ้ำซ้อน 4,000 คนก็อาจไปหาทางช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เช่น ไปลดหนี้นอกระบบให้