ก่อนหน้าที่ น.ส.สิริลดา โคตรพัฒน์ จะได้เป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์แบบ ได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกว่าจะผ่านขั้นตอนตรวจสอบเฉพาะที่เขตหนองจอกต้องติดต่อเรื่องเอกสารนานถึง 3 เดือน เนื่องจากการเปลี่ยนคำนำหน้านามเพิ่งจะเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบทางการแพทย์ถึงความเป็นหญิงมากกว่าชาย จากการมีสองเพศกำกวม และการตรวจสอบทางจิตวิทยาจนเป็นที่ยอมรับ
เมื่อโตขึ้นได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดครั้งแรกเมื่อปี 2549 ครั้งที่ 2 ปี 2550 และครั้งสุดท้ายเข้ารับการผ่าตัดในกรุงเทพฯ ปี 2553 โดยแพทย์ระบุว่าฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งก่อนหน้าเวลาถ่ายปัสสาวะจะผ่านออกทางช่องขับถ่ายบริเวณอวัยวะเพศหญิง ซึ่งไม่มีช่องคลอด มีเพียงรังไข่ขนาดเล็ก แต่ก็ฝ่อตัวเมื่อโตขึ้น ส่วนอวัยวะเพศชายเป็นองคชาตเล็กๆ ไม่มีอัณฑะ ทุกวันนี้ได้รับการผ่าตัดตกแต่งอวัยวะเป็นเพศหญิงแล้ว
น.ส.สิริลดา โคตรพัฒน์ กล่าวว่า เป็นผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาตั้งแต่อายุ 12 ปี ทำให้ได้มีโอกาสเข้ารับการรักษา โดยถูกส่งตัวเข้ารับการตรวจอาการที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น
แม้ในปัจจุบันนี้ เพศทางเลือก จะมีหลากหลายตามรสนิยมทางเพศของแต่ละบุคคล แต่การจะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อนั้น ถือเป็นเรื่องยากที่สุด ยกเว้นมีเหตุจำเป็น และองค์ประกอบครบครันถึงจะทำได้