นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าววันนี้ (2 ก.ย.) ถึงผลการสำรวจเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ : กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล" จำนวน 1,438 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23 ส.ค. -1 ก.ย. 2550 ว่า พบประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดตามข่าวสารโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 60.6 ระบุติดตามข่าวสารทุกวัน/เกือบทุกวัน ร้อยละ 15.1 ระบุ 3-4 วัน ร้อยละ 8.8 ระบุ 1-2 วัน ร้อยละ 12.3 ระบุติดตามเป็นบางสัปดาห์ และร้อยละ 3.2 ระบุไม่เคยติดตามเลย
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวต่อถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเทียบกับช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ว่า ร้อยละ 3.1 ระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยดีกว่าเดิม และร้อยละ 6.4 ดีเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 29.7 แย่เหมือนเดิม และตัวอย่างมากกว่าครึ่งคือร้อยละ 60.8 ระบุแย่ลงกว่าเดิม ส่วนสภาพความเป็นอยู่ภายในครอบครัวเทียบกับช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 4.2 สภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวของตนเองดีกว่าเดิม และร้อยละ 32.5 ดีเหมือนเดิม ในขณะ 1 ใน 3 คือร้อยละ 30.8 ระบุแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 32.4 ระบุแย่ลงกว่าเดิม นายนพดลกล่าวต่ออีกถึงความเชื่อมั่นต่อโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นกว่าเดิม ว่า โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนเชื่อมั่น ได้แก่ โครงการวิจัยและพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 66.83 โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 66.22 โครงการรวมพลังไทย ขจัดภัยยาเสพติด ร่วมเทิดไท้องค์ราชัน ร้อยละ 63.60 โครงการ "ทำบัญชี มีพอใช้ ให้พ่อดู" ร้อยละ 62.77 และโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 62.44 ตามลำดับ "ความมั่นใจต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันในการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนนั้น พบว่า ร้อยละ 4.1 ระบุมั่นใจ ร้อยละ 19.4 ระบุค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 48.6 ระบุไม่ค่อยมั่นใจ และร้อยละ 27.9 ระบุไม่มั่นใจ" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯกล่าวและว่า สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พบว่า ร้อยละ 55.6 ต้องการให้แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ อาทิ การลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค /การลดค่าครองชีพ รองลงมาคือร้อยละ 25.7 แก้ไขปัญหาสังคม อาทิ ปัญหายาเสพติด/อาชญากรรมต่างๆ ร้อยละ 14.9 ระบุปัญหาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ การจัดให้มีสาธารณูปโภคไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ที่เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล และการให้ข่าวสารแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ร้อยละ 14.7 ระบุปัญหาด้านการศึกษา การขาดแคลนทุนการศึกษาสำหรับเด็กยากจน และร้อยละ 13.7 ระบุปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและสุขภาพจิตของประชาชน ตามลำดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนกำลังอยู่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทั้งโดยภาพรวมของประเทศและระดับครัวเรือน สิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาคือ ปัญหาสังคม ยาเสพติด อาชญากรรม ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน ที่มักจะเติบโตสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง รัฐบาลจึงต้องประกาศวาระแห่งชาติและให้ฝ่ายการเมืองที่คาดว่าจะแข่งขันจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาตั้งแต่ขณะนี้ เพื่อเป็นสายโซ่ต่อเชื่อมไปยังการแก้ปัญหาสังคมระยะยาวในอนาคต หลังการเลือกตั้งให้รัฐบาลชุดใหม่สามารถควบคุมไม่ให้ปัญหาสังคมเติบโตเกินที่จะแก้ไขได้
เอแบคชี้ศก.ไทยย่ำแย่ หวั่นปัญหายาเสพติด-อาชญากรรม
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ เอแบคชี้ศก.ไทยย่ำแย่ หวั่นปัญหายาเสพติด-อาชญากรรม
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!