อ.จุฬาฯแนะทบทวนแอดมิชชั่นส์เชื่อไม่เกิน5ปีเลิกใช้
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 เมษายน 2549 15:48 น.
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตรวจข้อสอบปรนัยโอเน็ตและเอเน็ตใหม่หมดเพราะระบบแอดมิชชั่นส์มีปัญหาทั้งเชิงระบบและเชิงเทคนิค แม้ผลคะแนนโอเน็ตและเอเน็ตมีปัญหาแค่ 5-10 คน ก็ทำให้รวนไปทั้งระบบได้
"การตรวจข้อสอบและคิดคะแนนใหม่ จะทำให้ระบบแอดมิชชั่นส์ใช้ต่อไปได้ และเด็กได้รับความเป็นธรรม แต่มหาวิทยาลัยจะต้องเลื่อนเวลาเปิดเทอม ส่วนการที่ไม่ตรวจข้อสอบอัตนัยใหม่ในแง่ปฏิบัติต้องทำเช่นนี้เพราะถ้าตรวจใหม่จะไม่ทันเวลา แต่ถือเป็นจุดอ่อนที่สทศ.ต้องปรับปรุง ซึ่งเห็นใจสทศ.เพราะทำงานเต็มที่แต่ระบบมีปัญหาและเด็ก ผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจระบบแอดมิชชั่นส์" อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
รศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า เคยคาดการณ์ไว้แล้วว่าระบบแอดมิชชั่นส์ไม่เกิน 5 ปีก็ต้องเลิกไป ตอนนี้อาจจะเร็วกว่านั้นเพราะมีปัญหาคือ ระบบซับซ้อนเกินไปมีองค์ประกอบหลากหลายเกินไป เป็นระบบที่เรียกร้องจากเด็กสูงเกินไปเพราะเด็กต้องตั้งใจเรียนทำเกรดเฉลี่ยให้ดี อีกทั้งต้องสอบหลายอย่าง และบังคับให้เลือกเรียนเฉพาะทางตั้งแต่ม.4
และไม่ช่วยแก้ปัญหากวดวิชา แต่เด็กยิ่งกวดวิชามากขึ้นจากเดิมช่วงม.5-ม.6 ไปกวดวิชา ตอนนี้เริ่มตั้งแต่ม.2-ม.3 แล้ว ซึ่งในที่สุดเอนทรานซ์เดิมกับแอดมิชชั่นส์ก็ได้เด็กที่ไม่ต่างจากเดิม
"ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้จึงต้องทบทวนถึงข้อดีข้อเสียแอดมิชชั่นส์ อย่านึกว่าเป็นการเอาชนะหรือเสียหน้า โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสกอ. สทศ.และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) รวมถึงควรเชิญเด็กๆมาพูดคุยว่าควรปรับปรุงแอดมิชชั่นส์อย่างไร และควรนำเอาเอนทรานซ์เดิมกับแอดมิชชั่นส์มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อนำมาสร้างแอดมิชชั่นส์แบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม และเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด"อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว