ป่าห้วยขาแข้งฟื้น เสือโคร่งเพิ่มจำนวนมากอันดับ 2 ของโลก
วันนี้ (1 ก.ย.) นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ป่าและสัตว์ป่าในป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ว่าจากการวิจัยทางวิชาการล่าสุดพบว่า ผืนป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ด้านตะวันตก เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกพื้นที่แรกของไทยตั้งแต่ปี 2534 ขณะนี้มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ 2-3 ตัว ต่อพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร หรือรวมมีเสือโคร่งประมาณ 80-100 ตัว ถือว่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากผืนป่าไซบีเรีย แต่ทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลป่าได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี จะต้องเพิ่มปริมาณเสือโคร่งเป็น 5 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร หรือรวม 200 ตัว ซึ่งจะทำให้เลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ของโลก
ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวต่อว่า ถือเป็นแนวโน้มที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยเตรียมจะขยายโครงการศึกษาไปถึงทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นผืนป่าด้านตะวันตกที่อยู่ติดต่อกันด้วย สำหรับปัจจัยความสำเร็จคือ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิจัย รวมถึงชุมชนในพื้นที่ชายป่า
“จำนวนเสือโคร่งในป่ามีความหมายถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะอาหารของเสือโคร่งคือสัตว์กีบ เช่น เก้ง กวาง วัว ลูกกระทิง เมื่อเสือโคร่งอยู่ได้ ก็แสดงว่าต้องมีสัตว์กีบอาศัยอยู่เพียงพอ และยังหมายถึงพืชที่เป็นอาหารของสัตว์กีบเหล่านี้ ยังมีอย่างอุดมสมบูรณ์เพียงพอเช่นกัน ก็แสดงว่าป่ายังสมบูรณ์ แต่เราก็มีเป้าหมายจะเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ไปถึงเสือโคร่ง 5 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ภายใน 5 ปีข้างหน้า” นางรตยา กล่าว
อย่างไรก็ตาม นางรตยา กล่าวว่า แม้แนวโน้มการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าจะไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องมีการทำความเข้าใจกับหลายฝ่ายอีกมาก โดยเฉพาะภาครัฐ มักดำเนินโครงการก้ำกึ่ง ด้านหนึ่งอนุรักษ์ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีส่วนทำให้ผืนป่าหมดไป เช่น โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ผ่านพื้นที่ป่ามายัง จ.สุพรรณบุรี หรือโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบางโครงการ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โครงการตัดถนนผ่านป่า
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันนี้ ได้มีการจัดงาน “วันรำลึก 17 ปี สืบ นาคะเสถียร” ณ อาคารอนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี มีกิจกรรมตั้งแต่เวลา 08.00 น. ประกอบด้วย พิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้กับสืบ นาคะเสถียร และเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า จากนั้นเป็นพิธีรำลึก “17 ปี สืบ นาคะเสถียร” ซึ่งจะมีการอ่านชีวประวัติสืบ นาคะเสถียร กล่าวสดุดี และยืนสงบนิ่ง เพื่อไว้อาลัย