นายจ้างแห่แจ้งศูนย์ใช้ต่างด้าวผิดกฎหมาย วันแรกผิดคาด ยอดรวม 100 จุดรับแจ้งทั่วประเทศไม่ถึง 3 หมื่นคน บางจังหวัดแหล่งใช้แรงงานต่างด้าวมาไม่ถึงพันคน ขณะที่ใน กทม. 11 ศูนย์ คนรอคิวตั้งแต่ 6 โมงเช้า พบมาแจ้งใช้แรงงานชาวเมียนมามากสุด "บิ๊กบี้" ย้ำให้โอกาสแจ้งใน 15 วัน ไม่ขยายเวลา ครบกำหนดผ่อนผันจับปรับหนัก ขู่ไล่ออกเจ้าหน้าที่เอี่ยวเรียกรับผลประโยชน์ ด้านปลัดแรงงาน เชื่อนายจ้างอาจยังรอดูท่าที เชื่อวันท้ายๆจะมากันแน่น
วันแรกที่กระทรวงแรงงานเปิดให้นายจ้างยื่นเอกสารใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายใน 100 ศูนย์ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว บริเวณชั้น 1 ใต้อาคาร 15 ชั้น กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็น 1 ใน 11 ศูนย์ฯ ใน กทม.จาก 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ที่เริ่มเปิดให้บริการในเวลา 08.00 น. ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการและนายจ้างทยอยเดินทางเข้ามาแจ้งขอใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกันอย่างหนาตา บางรายมารอตั้งแต่เวลา 06.00 น. ส่งผลให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน และ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงงาน ที่มาตรวจสถานการณ์แล้วพบคนมารอคิวจำนวนมาก จึงให้เจ้าหน้าที่เปิดให้บริการในเวลา 07.30 น. เร็วกว่ากำหนดเดิม 30 นาที นายจ้างใช้เอกสาร 3 อย่าง คือ ใบคำขอใช้คนต่างด้าว รูปถ่ายคนต่างด้าว 3 ใบ และสำเนาบัตรประชาชนนายจ้าง กรอกข้อมูล ยื่นให้ตรวจสอบและรับบัตรคิวเข้าบันทึกข้อมูล ไม่เกินคนละ 15 นาที
ทั้งนี้ จากการสอบถามบรรดานายจ้างที่มายื่นเอกสารลูกจ้างต่างด้าว พบว่าส่วนใหญ่มาแจ้งใช้แรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชา จำนวน 1-3 คน ทำงานกรรมกร ร้านอาหาร เย็บผ้า มีที่แจ้งสูงสุดคือ 9 คน ทำงานโรงงานเย็บผ้าย่านห้วยขวาง และ นายจ้างส่วนใหญ่ต่างก็พึงพอใจที่ทางการผ่อนผัน เพื่อให้มาทำเอกสารให้ถูกต้อง และใช้เวลาในการยื่นเอกสารไม่นาน
ส่วนบรรยากาศการเปิดศูนย์รับแจ้งการทำงาน ของคนต่างด้าวผิดกฎหมายวันแรกของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่าเป็นไปอย่างคึกคัก เริ่มที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี บรรดานายจ้างและแรงงานต่างด้าวเดินทางมารอจดทะเบียนตั้งแต่ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกตรวจสอบหลักฐาน รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว ส่วนที่ จ.ขอนแก่น กำหนดพื้นที่รับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรายใหม่ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียน ณ บริเวณชั้น 1 อาคารศาลากลางจังหวัดขอนแก่น (หลังเก่า) ส่วนบริเวณชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น (หลังใหม่) เป็นจุดรับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรายเก่าที่ต้องการทำงานต่อ หรือเปลี่ยนนายจ้าง ตลอดทั้งวันมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวเดินทางมาขึ้นทะเบียนอย่างคึกคัก มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการแบบครบวงจร ส่วนปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ เตรียมเอกสารมาไม่ครบ
วันเดียวกัน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ตรวจเยี่ยมศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายจ้างส่วนใหญ่จ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนกว่า 30,000 คน เช่นเดียวกับที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดระนอง สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่ศูนย์บริการโรงแรมบีพี สมิหลาบีช สงขลา อ.เมืองสงขลา บรรดานายจ้างนำเอกสารมายื่นจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ว่าการดำเนินการไม่เสียค่าใช้จ่าย หากมีผู้แอบอ้างเรียกรับเงินให้แจ้งเจ้าหน้าที่จับกุมได้ทันที
ขณะที่จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก อาทิ สมุทรสาคร สมุทรปราการ บรรยากาศการรับแจ้งการทำงานของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวเดินทางมาจดทะเบียนตลอดทั้งวัน ขณะที่นายสุรชัย ขันอาสา ผวจ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า จ.ปทุมธานี เปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดไท (อาคารอเนกประสงค์) และศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ชั้น 4 มีภาครัฐและเอกชนสนับสนุนสถานที่ อาหารและเครื่องดื่ม เพื่ออำนวยความสะดวก
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหลายจังหวัดกลับเงียบเหงา นายอำนวย วงศ์อุดมมงคล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เปิดเผยว่า การเปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าววันแรก ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี ต.หนองไม้แดง อ.เมืองชลบุรี ผู้มาลงทะเบียน บางตา มีไม่ถึง 100 คน ขอเตือนให้นายจ้างอย่าชะล่าใจรีบดำเนินการโดยด่วน เพราะหากพ้นกำหนดจะถูกดำเนินคดี เช่นเดียวกับนายวสันต์ ปาลาส จัดหางานจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า บรรยากาศที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสระแก้วเต็มไปด้วยความเงียบเหงา เนื่องจากแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาในพื้นที่ไปทำบอเดอร์พาสแรงงาน หรือหนังสือเดินทางท้องถิ่น มีอายุ 30 วัน เพราะง่ายต่อการขออนุญาตและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการทำพาสปอร์ต เช่นเดียวกับที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก ตลอดทั้งวันมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาเดินทางมาจดทะเบียนเพียง 100 คน สาเหตุมาจากแรงงานส่วนใหญ่เดินทางแบบเช้ามาเย็นกลับ และเลือกทำบอเดอร์พาสเพราะเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเปิดศูนย์รับแจ้งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ครึ่งวัน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้เรียกประชุมผู้บริหารเพื่อประเมินผลการดำเนินการในวันแรก ที่ศูนย์เฉพาะกิจเพื่ออำนวยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ได้ข้อสรุปว่า ศูนย์ในกระทรวงแรงงาน นายจ้างที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นรายย่อย จ้างต่างด้าวทำอาชีพรับใช้ในบ้าน และลูกจ้างค้าขาย ในช่วงเช้ามีนายจ้าง 78 ราย เข้ามาแจ้งขอใช้แรงงานต่างด้าว 227 คน แต่เมื่อรวมทั้ง 11 ศูนย์ใน กทม.ถึงเวลา 09.30 น. มีนายจ้าง 568 ราย แจ้งใช้ต่างด้าว 1,448 คน เป็นเมียนมามากที่สุด และบางศูนย์มีนายจ้างรายเดียว แจ้งใช้ต่างด้าวถึง 43 คน ขณะที่ในต่างจังหวัดมียื่นขอมากที่สุดในจังหวัดสระบุรี ชลบุรี กำแพงเพชร ตัวเลขจากทุกศูนย์ที่นำเข้าระบบ จะแจ้งยอดเข้ามาที่กรมการจัดหางานเป็นระยะ แบ่งเป็นยอดที่ยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต และยอดที่นายจ้างเข้ามายื่นผ่านศูนย์ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ พล.อ.ศิริชัยกล่าวว่า ขอให้นายจ้างรีบยื่นเอกสารใน 15 วัน โดย 1 ศูนย์ จะรองรับได้วันละ กว่า 1 พันคน 100 ศูนย์จะได้วันละ 1.5 แสนคน ใน 15 วัน จะได้ประมาณ 2 ล้านคน เมื่อหมดเวลาผ่อนผันจะดำเนินคดีตามกฎหมาย จะไม่มีการเปิดจดทะเบียนตามที่ไปลือกัน และตั้งเป้าในปี 61 จะไม่ให้มีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศ พร้อมคาดโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์ หากพบจะไม่เอาไว้อย่างแน่นอน
ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในขั้นตอนที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. จะเป็นการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้างและลูกจ้าง หลายคนห่วงว่าจะมีการสวมสิทธิ์เอาต่างด้าวที่ไม่ใช่ลูกจ้างที่ใช้งานอยู่มาสวมรอย ในขั้นตอนนี้จะมีการตรวจสอบเข้ม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องพากันมาให้ตรวจสอบตามใบนัดหมาย ใช้คนอื่นมาแทนไม่ได้ ถ้านายจ้างเป็นนิติบุคคลมีการแจ้งใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก กรมการจัดหางานจะตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการสวมรอย จะคัดกรองเข้ม โดยในขั้นตอนยื่นเอกสารกับขั้นตอนคัดกรองความสัมพันธ์จะไม่มีค่าใช้จ่าย อย่าไปหลงเชื่อสายหรือนายหน้าที่จะเรียกเก็บเงิน 500-1,000 บาท ส่วนขั้นตอนที่ 3 ที่จะต้องไปพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางที่มาตั้งศูนย์ในประเทศไทย ทำพาสปอร์ต ขอวีซ่า ตรวจโรค และขอใบอนุญาตทำงาน จึงจะมีค่าใช้จ่ายตามที่กำหนด และขอให้นายจ้างอย่าสับสน 101 ศูนย์ จะรับแจ้งเฉพาะต่างด้าวผิดกฎหมายเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่มีบัตรสีชมพู จะเปลี่ยนนายจ้าง สถานที่ทำงาน หรือจะขอนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู ให้ไปติดต่อที่สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ ไม่ต้องมาที่ศูนย์
กระทั่งเวลา 17.10 น. พล.อ.ศิริชัยได้เรียกประชุมเพื่อสรุปยอดรวมทั่วประเทศอีกครั้ง หลังปิดรับแจ้งใช้แรงงานต่างด้าวในเวลา 16.30 น. จาก 100 ศูนย์ทั่วประเทศ พบว่า มีนายจ้าง 9,503 ราย แจ้งใช้แรงงานต่างด้าว 28,357 คน แยกเป็นมาแจ้งที่ศูนย์ 25,837 คน และเป็นชาวเมียนมามากที่สุด 18,726 คน โดย 5 จังหวัดที่มีการแจ้งใช้ต่างด้าวมากที่สุดได้ แก่ สระบุรี ชลบุรี บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และระยอง ส่วน 11 ศูนย์ใน กทม. มีแจ้งมากที่สุดที่ศูนย์ ธัญญาปาร์ค ถนนศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง 1,855 คน จากยอดที่ตั้งใจว่าจะเข้ามาวันแรกทั่วประเทศ ประมาณ 6 หมื่นคน หลายจังหวัดมีจำนวนน้อยเกินคาด อาทิ จ.สมุทรสาคร มีแจ้งต่างด้าวเพียง 977 คน ยอดที่น้อยกว่าที่คาด เป็นสิ่งยืนยันว่าต่างด้าวผิดกฎหมายไม่ได้มีมากนับล้านคนตามที่นักวิชาการต่างๆพูดไว้ แต่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในวันหยุดและวันท้ายๆ