(31สค.) ผลศึกษาที่จัดทำโดย เค เค ชุง กับเพย์แมน อาดับ แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในอังกฤษ
โดยศึกษาผู้ไม่สูบบุหรี่ 15,379 คน ซึ่งเกือบร้อยละ 90 เป็นสตรี ในนครกวางโจวทางใต้ของจีนและนำออกเผยแพร่วันนี้ระบุว่า โรคหลอดลมอักเสบ กับโรคมีอากาศในเนื้อเยื่อ (emphysema) ซึ่งเกิดจากสูดดมควันบุหรี่โดยผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ หรือ"การสูบบุหรี่มือสอง" จะเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตชาวจีนจำนวน 1.9 ล้านคน จากผู้ซึ่งมีวัยเกิน 50 ปีรวมทั้งหมด 240 ล้านคนของจีน และตัวเลขจะยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว หากรวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตจากมะเร็งปอดกับโรคหัวใจ ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกันด้วย
ผลศึกษาซึ่งเป็นผลศึกษาลักษณะนี้ครั้งใหญ่สุดของจีน ระบุด้วยว่า
ผู้ไม่เคยสูบบุหรี่เลย มีโอกาสเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 ที่จะต้องทุกข์ทรมาณจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease) หรือ COPD หากอยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่จัด ซึ่งหมายถึงการอยู่ท่ามกลางควันบุหรี่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นานกว่า 5 ปี ในทำงานซึ่งเพื่อนร่วมงานสูบบุหรี่ หรือในบ้านที่สมาชิกครอบครัวสูบบุหรี่ และว่าในจีน มีผู้เสียชีวิต 100,000 คน ต่อปี จากการเป็นนักสูบบุหรี่มือสอง ซึ่งร้อยละ 45 เกิดจากโรคปอดเรื้อรัง ที่เหลือเกิดจากโรคมะเร็งปอดกับโรคหลอดเลือดหัวใจ
ชุงได้อ้างตัวเลขของมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่ว่า
การสูบบุหรี่มือสองทำให้จีนเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละ 29,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 125,400 ล้านบาท และว่าจีนได้ใช้บางมาตรการเพื่อลดการบริโภคบุหรี่ กับลดการสัมผัสกับควันบุหรี่ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งรวมทั้งการประกาศเมื่อวันอังคารว่า มีแผนจะห้ามการโฆษณาบุหรี่ตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ทำได้ ภายใต้สนธิสัญญาควบคุมบุหรี่ขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO
จีนยังได้ห้ามสูบบุหรี่ตามยานพาหนะสาธารณะ
และประกาศให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่งในฤดูร้อนปีหน้า "ปลอดบุหรี่"ด้วย แต่ชุงกล่าวว่ารัฐบาลจีนสามารถทำได้มากกว่านี้ กล่าวคือทำให้สถานที่สาธารณะในร่มต่างๆปลอดบุหรี่ ซึ่งรวมทั้งตามภัตตาคารต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ เหมือนที่มีการออกกฏหมายในชาติตะวันตก