ปักเป้าทะลักเข้าตลาดวันละแสนกิโลยึด7ต้นไข่เพียบ

เผยมีปลาปักเป้าออกสู่ท้องตลาดวันละแสนกิโลกระจายตามร้านอาหารตามสั่ง


หมูกระทะ จิ้มจุ่ม แถมดัดแปลงเป็นลูกชิ้นปลา เตือนช่วงนี้เป็นฤดูวางไข่ เนื้อปลาอันตรายถึงชีวิตหากบริโภคเกิน 2 มิลลิกรัม ขณะที่ชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร ล่าสุดจับได้ขณะขนเข้ากรุง 7 ตัน ยอมรับป้องกันยากเพราะตำรวจท้องที่ไม่สนใจ


แม้จะมีข่าวอันตรายจากการบริโภค "ปลาปักเป้า"

แต่ก็ยังมีการแอบจับนำมาขายให้ผู้บริโภค ซึ่งล่าสุดเมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ลักลอบขนปลาปักเป้าเข้ากรุงเทพฯ ได้ที่บริเวณริมสะพานแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม มากกว่า 7,000 กิโลกรัม


พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร ผบก.กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) เปิดเผยว่า

ขณะนี้หน่วยข่าวของ ปศท.ได้รับรายงานว่ามีเนื้อปลาปักเป้าแพร่ระบาดอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นปลาปักเป้า จึงเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะประชาชนจะบริโภคเนื้อปลาปักเป้าไปโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากเมื่อปลาปักเป้าผ่านจากโรงแล่เนื้อ ก็จะถูกกระจายไปทั่วประเทศ ส่งไปขายต่อทั้งร้านอาหารประเภทอาหารตามสั่ง ร้านข้าวต้มปลา ร้านหมูกระทะ จิ้มจุ่ม และที่สำคัญก็คือมีรายงานว่าเนื้อปลาปักเป้าถูกนำไปดัดแปลงเป็นลูกชิ้นปลาและอาหารอื่นๆ ด้วย


จากข้อมูลที่เราติดตาม สืบสวนจากพื้นที่ที่มีชายฝั่งติดน้ำ เราคำนวณคร่าวๆ พบว่าอย่างน้อยมีเนื้อปลาปักเป้า 5 หมื่น-1 แสนกิโลกรัม ที่หลุดออกไปให้ประชาชนบริโภค

เพราะขนาดวันที่ 29 สิงหาคม ก็มีการจับกุมหลังเราสืบทราบว่าจะมีการขนปลาปักเป้าจำนวนมากไปโรงแล่ที่ท่าเรือในสมุทรสาคร เชื่อไหมว่ามีรถบรรทุกปลาอีก 6 คันที่เพิ่งขนปลามาจากท่าเรือไปส่งยังโรงแล่ปลา สามารถหลบหนีหลุดรอดไปได้เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจของ ปศท.ที่นำไปจับกุมนั้นไม่เพียงพอ" ผบก.ปศท.กล่าว


พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่อันตรายมากที่สุด


เพราะเป็นช่วงที่ปลาปักเป้ากำลังมีไข่ และพิษของปลาปักเป้าอยู่ที่ไข่ หากขั้นตอนที่แล่เนื้อปลาผิดพลาดมีดไปถูกไข่ปลา เนื้อปลาก็จะได้รับพิษด้วย ซึ่งหากใครบริโภคเนื้อปลาที่มีพิษเกิน 2 มิลลิกรัมก็จะมีอันตรายถึงชีวิต และเท่าที่ทราบก็ยังไม่มียารักษา ต้องใช้วิธีขับปัสสาวะเพียงอย่างเดียว และช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลจุฬาฯ ศึกษาวิจัยและพบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยพิษปลาปักเป้า 15 ราย สามารถช่วยเหลือได้ทัน 115 ราย


ถึงแม้ปัญหาดังกล่าวจะพูดกันมานาน แต่ก็ยังไม่ถูกแก้ไข

เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เล็งเห็นแต่ผลประโยชน์ ไม่ต้องให้ตำรวจจาก ปศท.ไปจับกุมก็สามารถทำได้เพราะกฎของกระทรวงสาธารณสุขนั้นระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามมีการนำเข้า จำหน่ายปลาชนิดนี้ทุกกรณี" ผบก.ปศท.กล่าว
 

สำหรับการจับกุมล่าสุด เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 29 สิงหาคม

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร ผบก.ปศท. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ชนาภัทร เชยสมบัติ รอง ผบก.ปศท. พ.ต.อ.ชัยพงษ์ ทรงพลนภจร ผกก.3 บก.ปศท. พ.ต.ท.อภิชาติ อภิชานนท์ สว.กก.3 บก.ปศท. ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมนางนาตยา ใจเย็น อายุ 41 ปี และนายศักดิ์ชัย ศรีดาวเรือง อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 173 ถ.สุทธิวาตวิถี ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  พร้อมของกลางปลาปักเป้า 7,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 3 แสนบาท รถหกล้อยี่ห้อฮีโน่ ทะเบียน 81-3674 สมุทรสาคร รถกระบะยี่ห้อนิสสันฟรอนเทียร์ ทะเบียน บง-9225 สมุทรสาคร โดยกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธาณสุข (ฉบับที่ 264 พ.ศ.2545 เรื่องการกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย ซึ่งออกตามความในมาตรา 5, 6 (8) แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งปรับทั้งจำ)
 

ในเรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักและห่วงใยประชาชนในการบริโภคอาหารซึ่งไม่ปลอดภัย ไม่มีคุณภาพหรือมาตรฐานตามที่กำหนด

อาหารที่ใช้วัตถุเจือปนในอาหาร และอาหารที่มีวัตถุกันเสีย ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีการประกาศห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา ว่ามีผู้ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต จากการรับประทานอาหารดังกล่าว" ผบก.ปศท.กล่าว


สำหรับการจับกุมครั้งนี้ พ.ต.อ.ชนาภัทร สืบสวนติดตามจับกุมผู้กระทำผิด

จนกระทั่งเวลา 03.00 น. วันเดียวกัน ก็พบและสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้ที่บริเวณริมสะพานแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ขณะขนไปจำหน่ายให้ลูกค้า ซึ่งเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์