สงกรานต์เหนือคึกคัก ฉลอง 710 ปีเชียงใหม่เงินสะพัด 1 พันล้าน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 เมษายน 2549 19:32 น.
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สงกรานต์ชาวเหนือเริ่มแล้ว เชียงใหม่ฉลอง 710 ปี คาดนักท่องเที่ยวแห่ร่วมงานเงินสะดั 1 พันล้าน ขณะที่ทุกจังหวัดในภาคเหนือล้วนจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์กันอย่างยิ่งใหญ่ หวังดึงนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ
สงกรานต์ของจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้(12 เม.ย.49) เริ่มคึกคักแล้ว เมื่อบริเวณรอบๆ คูเมืองเชียงใหม่ต่างมีบรรดาวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กันแล้ว ซึ่งในช่วงการจัดงานสงกรานต์ปีนี้ของจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีการเข้มงวดเป็นพิเศษเกี่ยวกับความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามเล่นน้ำรอบคูเมืองเชียงใหม่ โดยมีการสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และตั้งเวทีคอนเสิร์ตหรือเปิดเครื่องเสียงขนาดใหญ่โดยเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกันเหตุทะเลาะวิวาท อย่างที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งหากตรวจพบจะมีการลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
สำหรับการจัดงานสงกรานต์หรืองานปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ในปีนี้ถือว่ามีความพิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากจะเป็นการครบรอบ 710 ปีของเมืองเชียงใหม่ในวันที่ 12 เม.ย.49 ด้วย โดยเช้าวานนี้ (12 เม.ย.49) ได้มีพิธีทำบุญตักบาตรครบรอบ 710 ปีเมืองเชียงใหม่ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ขณะที่ในช่วงเย็นมีพิธีถวายเครื่องสักการะเครื่องสักการะสระเกล้าดำหัวอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของเมืองเชียงใหม่ด้วย
ทั้งนี้การจัดงานสงกรานต์ปีใหม่เมืองเชียงใหม่ จะมีไปจนถึงวันที่ 15 เม.ย.49 โดยกิจกรรมในวันนี้(13 เม.ย.49) จะมีการประกวดเทพีสงกรานต์และขบวนแห่การประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง ที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ รวมทั้งมีการแห่พระพุทธสิหิงห์ ซึ่งตลอดการจัดงานคาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 1,000 ล้านบาท
4 จว.เหนือเตรียมรับคนเล่นน้ำกว่า 2 แสนคน
นางธัญภา นิโครธานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.ภาคเหนือเขต 2 (จ.เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) เปิดเผยว่า ในปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้รับงบประมาณจากยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดล้านนาในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมของงาน"มหาสงกรานต์ล้านนา"ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยการจัดงานสงกรานต์ในภาคเหนือในปีนี้ มุ่งเน้นการกระตุ้น ให้เกิดการกระจายรายการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศในช่วงสงกรานต์ไปให้ทั่วถึงทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อันจะนำไปสู่การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือให้มากขึ้น
ในส่วนของสำนักงาน ททท.ภาคเหนือเขต 2 ซึ่งดูแลรับผิดชอบด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของ 4 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน คือเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ได้สรุปการจัดงานของจังหวัดต่าง ๆ ไว้ดังนี้
จังหวัดเชียงราย จะมีการจัดงาน "งานสงกรานต์แม่สาย" โดยเทศบาลตำบลแม่สาย ในวันที่13 เมษายน 2549 ณ หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย /"งานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง จ.ศ. 1368 (งานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2549 โดยเทศบาลนครเชียงราย ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ
งานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเชียงแสน โดยอำเภอเชียงแสน ระหว่างวันที่ 16 - 18 เมษายน 2549 ณ บริเวณริงฝั่งแม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน
งานล้านนาปลาบึกเชียงของ โดยอำเภอเชียงของ จัดขั้นระหว่างวันที่ 17 - 18 เมษายน 2549 บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงของ
ส่วน จังหวัดพะเยามีงาน "ประเพณีสงกรานต์ฮิมกว๊าน กิ๋นตานปีใหม่" จัดโดยจังหวัดพะเยา ระหว่าวันที่ 12 - 14 เมษายน 2549 ณ บริเวณริมกว๊านพะเยา / ประเพณีสงกรานต์ไทยลื้อ ตานตุงไทยลื้อ จัดโดย อำเภอเชียงคำระหว่างวันที่ 15 - 16 ณ วัดแสนเมืองมา อ. เชียงคำ
จังหวัดแพร่มีงาน "เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ล้านนา ดอกลมแล้งบาน กรงกรานต์เมืองแป้ นุ่งหม้อฮ่อมแต๊งามตา จัดโดยจังหวัดแพร่ ระหว่างวันที่ 12 -16 เมษายน2549 ณ ถนนหน้าเทศบาลเมืองแพร่
จังหวัดน่านจัดงาน"ประเพณีสงกรานต์จังหวัดน่าน"ระหว่างวันที่ 12 - 16 เมษายน 2549ณ วัดสวนตาล อ.เมืองจ.น่าน จึงขอเชิญชวนประชาชนทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมเที่ยวงานสงกรานต์ 4 จังหวัดล้านนาตามกำหนดการงานประเพณีสงกรานต์ในจังหวัดต่าง ๆ ของกลุ่มล้านนา
ทั้งนี้ คาดการณ์ช่วงระหว่างวันที่ 12 - 17 เมษายน2549 ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงราย - พะเยา - แพร่ -น่าน) จะมีผู้มาเยือน 200,000 คน หรือเพิ่ม ขึ้น 5 %
**แพร่หันมาใช้วิธี "ปั่นปอน"แบบล้านนา
ด้านจังหวัดแพร่ นับเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ ที่มีการเล่นสงกรานต์ที่ยาวนาน ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนไปจนถึงวันที่ 17 เมษายนของทุกปี โดยมีการสรงน้ำพระและร่วมกันดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่อย่างถูกวิธี ในวันสงกรานต์น้ำตกห้วยโรง เป็นงานสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวอ.ร้องกวาง แต่ยังคงยึดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะงานนมัสการพระเจ้าแสนแซ่ ของชาวอ.เด่นชัยในวันที่ 16 เมษายน ที่หน้าเทศบาลตำบลเด่นชัย และ งานดอกลมแล้งบานสงกรานต์เมืองแพร่
ในวันที่ 17 เมษายน ภายในตัวเมืองแพร่ ซึ่งทั้งสองงานจะมีนักท่องเที่ยวและประชาชนชาวแพร่ไปร่วมงานกันมากเป็นพิเศษ ซึ่งในปีนี้ชาวแพร่ร่วมกันคืนสู่วัฒนธรรมล้านนา เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์