เผยสารพิษในเส้นก๋วยเตี๋ยวร่างกายสามารถขับออกได้
วันนี้ (29 ส.ค.) นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการตรวจสอบพบว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดต่างๆ ในภาคอีสาน มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน ว่าเดิมก๋วยเตี๋ยวได้กำหนดให้เป็นร้านอาหารทั่วไป ดังนั้น โรงงานที่ผลิตเส้นไม่จำเป็นต้องแจ้งเรื่องส่วนผสม แต่ปัจจุบันลักษณะการค้าเริ่มกระจาย ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรม และกระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ต้องใช้สารถนอมอาหารมากขึ้น
รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าว อย. ทราบมานาน และได้หาทางแก้ไขแล้ว
โดยยกระดับโรงงานให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยจีเอ็มพี ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม นพ.นิพนธ์ ยอมรับว่าผู้ที่ทานก๋วยเตี๋ยวจะทราบได้ยากว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวผ่านมาตรฐานหรือไม่ การควบคุมโรงงานที่ผลิต ถือเป็นการควบคุมทางอ้อมอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภควางใจได้ "การตรวจสอบพบว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวมีสารกันบูดเกินมาตรฐาน เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ยังได้มาตรฐานอยู่ อย่าตื่นตระหนกกับเรื่องนี้มากนัก เพราะข้อเท็จจริงแล้ว การบริโภคก๋วยเตี๋ยวไม่ได้มากจนถึงขั้นที่เป็นอันตราย หากรับประทานอาหารที่มีสารกันบูดเกินมาตรฐาน อาการที่พบจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน แต่ร่างกายมีกระบวนการขับสารที่เป็นพิษอยู่แล้ว โดยร่างกายจะขจัดออกไปได้หมดภายใน 1 วัน"
ส่วนร้านขายของฝากอาหารพื้นเมืองที่พบว่ามีคุณภาพไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากตรวจพบจุลินทรีย์ และใช้วัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐาน นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า
จะต้องพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เพราะสารที่ใช้ในการถนอมอาหารมีเป็นจำนวนมาก อาจจะไม่ทราบว่าสารตัวไหนนำมาใช้ได้ จึงเป็นหน้าที่ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานไม่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค