นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย ถึงกรณีครม.อนุมัติโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อไปก่อสร้างโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานครว่า ขอชี้แจงโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มูลนิธิและภาคเอกชนรวมกันกว่า 50 องค์กร ได้เสนอตัวเข้ามาลงทุนในพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ตั้งแต่ปี 58 เพื่อสร้างหอชมเมืองและใช้เป็นต้นแบบเทิดพระเกียรติศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่9 ซึ่งไม่ใช้เป็นโครงการที่รัฐใช้งบประมาณแผ่นดินไปลงทุนแต่อย่างใด เพียงแต่นำที่ราชพัสดุไปสนับสนุนให้เช่าราคาถูกเท่านั้น
ทั้งนี้ ที่ดินราชพัสดุผืนดังกล่าวมีขนาด 4 ไร่ 2 งาน 34 ตาราวา มีราคาประเมินที่ 198 ล้านบาท โดยเดิมเป็นที่ราชพัสดุของตำรวจน้ำเข้าออกได้ทางแม่น้ำเจ้าพระยาทางเดียว แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เหลือเป็นเพียงอาคารตั้งเปล่าและมีคนเฝ้าพื้นที่ไว้ โดยไม่มีการบุกรุก ซึ่งหลังจากนี้กรมฯ จะจัดทำสัญญาและรายละเอียดตามขั้นตอนเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ทันภายในปีนี้ โดยคิดค่าเช่าที่ในราคาต่ำประมาณ 70 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี เพราะถือเป็นโครงการเชิงสังคมที่ไม่ได้หวังผลกำไรเชิงพาณิชย์...
สำหรับมูลค่าการก่อสร้างโครงการขอยืนยันว่าอยู่ที่ 4,620 ล้านบาท ไม่ได้สูงถึง 7,600 ล้านบาทตามที่เป็นข่าว ส่วนขั้นตอนการก่อสร้างเป็นหน้าที่ของเอกชนและมูลนิธิคัดเลือกผู้รับเหมาเข้ามาทำโครงการ ขณะที่กรมธนารักษ์จะคอยดูควบคุมแบบการก่อสร้างว่าทำได้ตามที่เอกชนเสนอหรือไม่
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ได้เห็นชอบโครงการดังกล่าวและเป็นผู้เสนอเข้า ครม. เนื่องจากเห็นว่า เป็นโครงการที่ทำประโยชน์ในเชิงสังคม ไม่ได้เป็นการมุ่งทำกำไร อีกทั้งต้องการใช้เผยแพร่ตามศาสตร์พระราชา ซึ่งหากมีการประมูลอาจทำให้ล่าช้าเกรง ที่สำคัญยังกำหนดเงื่อนไขว่า รายได้ที่ได้จากโครงการเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะต้องนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะเท่านั้น ห้ามนำแบ่งกันของผู้ร่วมลงทุนเด็ดขาด สำหรับสาเหตุที่โครงการนี้ ต้องเสนอเข้าพีพีพี เพราะเป็นเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของรัฐ และมีวงเงินลงทุน 1,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของพีพีพี
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินตาบอดซึ่งใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มาก แต่ทางมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความน่าสนใจ ซึ่งรัฐบาลเองได้พิจารณาแล้วเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการเพื่อเป็นต้นแบบน้อมนำศาสตร์พระราชามาดำเนินการ โดยจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพมหานคร...