15 มิ.ย.นี้ นายลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จ.เชียงราย ซึ่งหนีจากการไปฝึกงานตามโครงการความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยดังกล่าวกับองค์กรในประเทศเกาหลีคือ "นิติบุคคล โอลไลฟ ประเทศเกาหลี" อย่างละเอียด หลังจากกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวเป็นชายจำนวน 5 คนและหญิงจำนวน 3 คนอายุตั้งแต่ 16-22 ปี ที่ถูกส่งไปหาประสบการณ์ตามโครงการได้เดินทางหนีกลับประเทศไทยก่อนกำหนดและไปร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย ว่าถูกส่งไปทำงานหนักเหมือนแรงงานที่ไม่ใช่ นักศึกษาและผู้หญิงถูกลวนลามรวมทั้งยังสงสัยว่ามีการจ่ายเงินค่าแรงงานให้คนอื่นทั้งๆ ที่เป็นการฝึกประสบการณ์ที่ไม่มีการจ่ายเงิน โดยการสอบปากคำดำเนินไปเป็นวันที่ 2 เนื่องจากเด็กมีหลายคนและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานโดยเฉพาะส่วนใหญ่ยังเป็นเยาวชนอยู่จึงไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟัง
ด้านนายเจริญ เชื้อเมืองพาน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย พร้อมคณะอาจารย์ของวิทยาลัยได้มีการนำสื่อมวลชนไปดูโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-เกาหลี ดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันองค์กรที่ร่วมมือกับวิทยาลัยในการพานักศึกษาไปหาประสบการณ์ที่ประเทศเกาหลีดังล่าวมีการสร้างเป็นโรงเพาะสตรอว์เบอร์รีจำนวน 2 โรงใหญ่ โดยมีหลังคาทรงโค้งและตาข่ายโลหะสำหรับปลูกพืชดังกล่าวพร้อมระบบบำรุงรักษาพืชอย่างดีใช้งานมาตั้งแต่ปี 2559-2560 ปัจจุบันเก็บผลผลิตได้แล้วและมีเด็กที่เคยไปฝึกงานในโครงการเดียวกันทำงานอยู่ภายใน 1 คนและเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งยังมีนายคัง แดยูน ผอ.นิติบุคคลโอลไลฟและเจ้าของฟาร์มชาวเกาหลีบางคนเดินทางไปดูทุกเดือน
นายเจริญและผู้บริหารวิทยาลัยระบุว่าการส่งนักศึกษาไปฝึกประสบการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามความร่วมมือกัน หลังจากนิติบุคคลดังกล่าวมีโครงการจะเข้ามาทำแปลงเกษตรใน จ.เชียงราย จึงได้ประสานความร่วมมือกับทางวิทยาลัยในการพาเด็กที่เรียนรู้ด้านการเกษตรอยู่แล้วไปฝึกประสบการณ์ที่ฟาร์มของตนเองที่เมืองซุงจู จ.ซุงซองบุกโด ประเทศเกาหลีใต้ จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงกันระหว่างนิติบุคคลดังกล่าวกับวิทยาลัยรวมถึงสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.เชียงราย พาเด็กไปฝึกประสบการณ์ช่วงปิดภาคเรียนหรือซัมเมอร์ โดยก่อนจะส่งเด็กไปทางผู้อำนวยการวิทยาลัยคนก่อน รองผู้อำนวยการและคณาจารย์รวม 4 คนและผู้ประสานงานชาวไทยและเกาหลีได้เดินทางไปดูพื้นที่พบว่าตั้งอยู่ห่างจากเมืองปูซานประมาณ 600 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงโซลประมาณ 1 วัน
นายเจริญ กล่าวว่าครั้งนั้นมีการไปดูงานสถานที่พัฒนาการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐ และดูฟาร์มของเอกชนแล้วพบว่าทันสมัยและสามารถสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษาได้จึงพาส่งนักเรียนไปภายใต้ข้อตกลงที่ว่าฟาร์มที่เกาหลีใต้จะออกค่าเดินทางและค่ากินอยู่ของเด็กโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้าง จากนั้นจึงส่งนักศึกษารุ่นแรกเป็นชายไปก่อนจำนวน 2 คน ในปี 2558 เป็นเวลา 1 เดือน และรุ่นที่ 2 เป็นชายล้วนจำนวน 4 คนในปี 2559 เป็นเวลา 2 เดือนกว่า กระทั่งรุ่นที่ 3 กำหนดระยะเวลา 3 เดือนโดยจะครบกำหนดกลับวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เมื่อครบกำหนดแต่ละคนก็ได้รับทุนการศึกษาคนละ 20,000 บาท แต่ได้เกิดปัญหานี้ขึ้นเสียก่อน ซึ่งยอมรับว่าตนก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงแต่ทราบข้อมูลจากการแจ้งของนักศึกษาทางไลน์กลุ่มที่มีร่วมกันระหว่างฝึกงานและจากข่าวสาร เพราะหลังจากกลับจากเกาหลีใต้แล้วนักศึกษาที่ยังไม่ได้เดินทางไปยังวิทยาลัยแต่กลับไปร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงค์ธรรมแทน
นายเจริญ กล่าวอีกว่าปัจจุบันกำลังจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในวิทยาลัย 1 ชุดและสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือก็จะตั้งคณะกรรมการอีก 1 ชุด ซึ่งก็จะทำให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป เพราะที่ผ่านมามีเพียงคำให้การของเด็กผ่านไลน์ ซึ่งเมื่อตนได้รับทราบมาตั้งแต่เด็กอยู่ที่เกาหลีใต้จึงตนจึงร้อนใจรีบแจ้งผู้ประสานงานให้บินไปยังเกาหลีใต้เพื่อก้ไขปัญหา กระทั่งวันที่ 12 มิ.ย.ก็ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัคราชฑูตไทยที่เกาหลีใต้ว่าได้มีนักศึกษาของเราออกจากฟาร์มชาวเกาหลีไปอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่และอยากจะกลับประเทศไทยแล้ว ตนจึงรีบแจ้งผู้ประสานงานทำให้นายคัง แดยูน ผอ.นิติบุคคลฯ และเจ้าของฟาร์มก็รีบบินมาพบตนที่วิทยาลัยเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.แล้วบอกว่าพวกเขาไม่สบายใจและให้เหตุผลว่าไม่ได้ลวนลามแต่เป็นธรรมเนียมของชาวเกาหลีที่เมื่อเอ็นดูเด็กจะโอบกอดกันบ้างเป็นเรื่องปกติ
"ส่วนเรื่องเงินค่าจ้างได้รับแจ้งจากเจ้าของฟาร์มว่าเด็กๆ ได้สอบถามแต่เนื่องจากสื่อสารกันด้วยภาษาเกาหลีไม่ได้ เด็กจึงใช้แอพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือแปลภาษาแล้วตีความไปว่าเจ้าของฟาร์มได้จ่ายเงินค้าจ้างให้ผู้ประสานงานแล้วจึงใช้งานพวกเขาได้ ทั้งๆ ที่เจ้าของฟาร์มบอกเพียงว่าได้จ่ายค่าเครื่องบินและดูแลตามโครงการจึงให้เด็กทำงานในฟาร์มเท่านั้น" นายเจริญ กล่าวและว่ากระนั้นเรื่องนี้ก็ต้องตรวจสอบกันต่อไป ปัญหาอยู่ที่การสื่อสารของทั้งสองฝ่ายเข้าใจไม่ตรงกันมากกว่า
หากต้องดำเนินโครงการต่อไปต้องทำรายละเอียดการส่งนักศึกษาไปให้ละเอียด เช่น เรื่องการเตรียมเด็กให้ฝึกภาษาเกาหลีเบื้องต้นก่อน หรือควรมีผู้ช่วยที่เข้าใจภาษา ไทย-เกาหลีอยู่ในกลุ่มของนักเรียนที่ไปฝึกงานด้วย
ด้านนายสุกิจ มาลัยรุ่งสกุล รองผู้อำนวยการวิทยาลัย ผู้ดูแลโครงการ กล่าวว่าสถานที่ที่เด็กไปฝึกประสบการณ์ตามข้อตกลงมีอยู่ 3 จุดคือฟาร์มพืชผักและข้าวอินทรีย์ แปลงสตรอว์เบอร์รี และฟาร์มโคเนื้อ ซึ่งทางตนและผู้บริการได้ไปดูพื้นที่แล้วพบว่าสามารถฝึกประสบการณ์เด็กได้จึงส่งเด็กไปดังกล่าว
ด้านนายวัชรพล สิงหากัน หัวหน้าสาขาวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยฯ กล่าวว่าเด็กรุ่นที่ 1 และ 2 ไม่พบปัญหามากนักเพราะทางนิติบุคคลดังกล่าวได้ส่งคนไปฝึกภาษาให้เด็กก่อนล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน รวมทั้งเป็นผู้ชายทำให้ปัญหาไม่ค่อยมีมากนักปัจจุบันนักศึกษาที่ไปฝึกงานรุ่นที่ 2 จำนวน 1 คนก็ทำงานอยู่ในแปลงเพาะสตรอว์เบอร์รีของนิติบุคคลดังกล่าวภายในวิทยาลัยนั่นเอง ส่วนรุ่นที่ 3 ไม่มีการอบรมเรื่องภาษาจึงอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ดังกล่าวซึ่งตนอยากจะพบนักศึกษากลุ่มนี้มากเพราะสนิทกันดีจะได้สอบถามข้อมูลแต่ก็ยังไม่พบเด็กเลยโดยติดต่อครั้งล่าสุดผ่านไลน์เมื่อครั้งอยู่ในเกาหลีใต้เท่านั้น และเชื่อว่าจะได้พบเด็กเพราะจะถึงเวลาลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนใหม่ในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ซึ่งทุกคนจะต้องไปลงทะเบียน
น.ส.เอ (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นประกาศนียวัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 สาขาวิชาพืชศาสตร์ กล่าวว่ายืนยันว่ามีการลวนลามร่างกายเพราะเมื่อครั้นอยู่ที่เกาหลีใต้กลุ่มนักศึกษาหญิงส่วนใหญ่จะอยู่ฟาร์มเดียวกัน และได้มีคนในนิติบุคคลดังกล่าวมักจะเข้าไปโอบกอดนักศึกษาที่เป็นหญิงซึ่งแรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะเขาบอกว่าเป็นธรรมเนียมของชาวเกาหลี แต่เมื่อสังเกตุเห็นคนอื่นๆ ที่เป็นชาวเกาหลีก็ไม่เห็นทำกัน นอกจากนี้เมื่อนั่งรถไปด้วยกันก็มักจะเอามือมาวางตรงขาอ่อนและลูบคลำลักษณะไม่ใช่เอ็นดู รวมทั้งพยายามมาหาตอนเช้าและกลางคืนแล้วจูบกอดทำให้พวกตนทนไม่ไหวจึงแจ้งอาจารย์แต่เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขจึงแจ้งตำรวจเกาหลีและพากันไปยังสถานเอกอัคราชฑูตไทยให้ช่วยเหลือกลับดังกล่าว โดยวันจะเดินทางกลับตนไม่มีเงินเหลือเลยต้องเดินเท้าจากมูลนิธิแห่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่พาไปพักเพื่อไปยังสถานเอกอัคราชทูตระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร เพื่อจะได้ถูกส่งตัวกลับประเทศไทยด้วย
ด้านนายบี (นามสมมติ) นักศึกษา ปสว.ปีที่ 2 สาขาวิชาช่างเกษตร กล่าวว่าพวกตนทำงานตั้งแต่เวลา 07.00 น. - 19.30 น.หรือทำงานตั้งแต่เช้ามืดถึงค่ำซึ่งถูกใช้งานหนักมาก ทั้งขนของหนักที่เป็นไม้ โลหะ ฯลฯ ไม่ตรงกับสายงานเลยลักษณะจึงเหมือนเป็นแรงงานไม่ใช่ไปฝึกหาประสบการณ์เลยจึงพากันออกมาของความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทยดังกล่าว