เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่บริเวณหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กว่าร้อยคนรวมตัวกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต สน.นางเลิ้ง และนครบาล 1 รวมทั้งทหารจากกองทัพภาคที่ 1 คอยดูแลความสงบเรียบร้อย เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้หยุดกระบวนการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 และเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้สอบรับกับคำสั่ง คสช. ที่37/2559 ตามมาตรา 44
โดยน.ส. สุภัทรา นาคะผิว อดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ในฐานะโฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายประชาชน 9 ด้าน ในระบบหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยนายกฯ ยุติกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 และให้มีการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขใหม่ โดยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายให้มีความสมดุล และมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง เพราะจากการติดตามการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างใกล้ชิด พบว่ายังมีประเด็นในการแก้กฎหมายปลายประเด็นที่ทำลายเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน
โดย1.เห็นว่าองค์ประกอบของคณะทำงานแก้ไขกฎหมายที่ รมว.สาธารณสุขตั้งขึ้นนั้นไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม โน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากสัดส่วนของคณะทำงาน 26 คนเป็นฝ่ายผู้จัดบริการมากถึง 12 คนสัดส่วนของประชาชนเพียง 2 คน ที่เหลือคือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง 2. เนื้อหากฎหมานหลายเรื่องมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ต่อผู้จัดบริการ เช่น การเพิ่มบอร์ด สปสช. เท่ากับเป็นการทำลายหลักการสมดุลระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ, การไม่ยอมแก้ไขระบบหลักประกันสุขภาพ โดยสำนักงาน สปสช. สามารถบริหารจัดหายาที่มีราคาแพง ส่งผลให้มีปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชน ถือเป็นการลดทอนอำนาจในการบริหารกองทุนของสำนักงาน สปสช., การที่กำหนดให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถซื้อบริการ ดูแลรักษา ส่งเสริมป้องกัน ฟื้นฟูและบำบัดจากภาคส่วนอื่นได้ แต่ต้องส่งเงินให้กับหน่วยบริการเท่านั้น
3.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว ในพื้นที่ 4 จังหวัดใหญ่คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และกทม. ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะในความเป็นจริงประชาชนกว่า 48 ล้านคน ที่จะมีผลกระทบจาก พ.ร.บ. นี้ และ 4. กระบวนการแก้ไขพ.ร.บ.ครั้งนี้ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพราะดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า การแก้ไขกฎหมายต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและต้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมในกระบวนการแก้กฎหมายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ส่งตัวแทน จำนวน 10 คน มายื่นหนังสือที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางมาลินี ภาวิไล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริหารประชาชนเป็นผู้รับหนังสือแทน พร้อมแจ้งว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเรียนนายกฯ ให้ทราบเรื่อง พร้อมกับส่งเรื่องให้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบ