เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และนายชัยยุทธ คำคูณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ร่วมกันแถลงความร่วมมือระหว่างดีเอสไอและกรมศุลกากร กรณีการปราบปรามการนำเข้ารถยนต์ลักลอบและหลีกเลี่ยงการชำระภาษีศุลกากร ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า สืบเนื่องจากดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวนกรณีการนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร และสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง พบว่าบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์ได้ระบุราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าที่ผู้นำเข้าต้องแสดงต่อกรมศุลกากรเพื่อเสียภาษีอากร โดยมีการสำแดงราคาต่ำกว่าราคาเป็นจริง ราคาโดยเฉลี่ยผู้นำเข้าสำแดงไม่เกินร้อยละ 40 ของราคารถยนต์ที่บริษัทผู้ผลิตในประเทศต้นกำเนิดรถยนต์จำหน่าย ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 120/2560 ได้ขอหมายค้นต่อศาลอาญาเพื่อตรวจค้นสถานที่เป้าหมายต้องสงสัย 9 แห่ง สามารถอายัดรถได้ 122 คัน ก่อนตรวจค้นอีก 6 แห่ง ในวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา และอายัดรถยนต์ได้อีก 38 คัน รวม 160 คัน พร้อมตรวจยึดเอกสารสำคัญในการนำเข้ารถยนต์หลายยี่ห้อ เช่น ลัมโบร์กีนี โรลส์-รอยซ์ แมคลาเรน และโลตัส มูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร ก่อนดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทผู้นำเข้าต่อไป
พบถูกโจรกรรมมาจากอังกฤษ
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า หน่วยต่อต้านการโจรกรรมรถยนต์ สหราชอาณาจักร (National Vehicle Crime Intelligence Service-NaVCIS) ได้ประสานความร่วมมือกับดีเอสไอ พบว่ารถยนต์จำนวนหนึ่งที่ดีเอสไออายัดไว้เป็นรถยนต์ที่มีการแจ้งหายไว้ที่ประเทศอังกฤษ หน่วยต่อต้านฯได้ส่งข้อมูลรถยนต์ที่ถูกโจรกรรม 42 คัน จากการสืบสวนเบื้องต้นพบรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมดังกล่าว 10 คัน อยู่ในการอายัดของดีเอสไอแล้ว 7 คัน ส่วนอีก 2 คัน มีผู้ครอบครองแล้ว และอีก 1 คัน อยู่ในเขตปลอดภาษีอากรของกรมศุลกากร อย่างไรก็ตาม หน่วยต่อต้านฯต้องการให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยเร็ว และได้ประสานมายังดีเอสไอ จึงต้องสอบสวนขยายผลถึงพฤติการณ์เพื่อจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวถึงกรณีมีคณะบุคคลหรือบุคคลได้แอบอ้างตัวเป็นเจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษไปเรียกรับผลประโยชน์เป็นตัวเงินจากบริษัทหรือตัวแทนผู้จำหน่ายรถยนต์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการถูกตรวจสอบว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือหรือเจรจาต่อรองไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ และจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ตามคำสั่ง คสช.ที่ 13/2559 และดีเอสไอพบว่ามีบริษัทหลงเชื่อและโอนเงินให้กับบุคคลดังกล่าวเป็นเงิน 50,000 บาท จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่าผู้ที่แอบอ้างเป็นพนักงานสอบสวนดีเอสไอ คือ นายอรรคพล ทรัพย์พูลปฐม เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมตัวส่ง สน.หัวหมาก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว
นำไปเข้าไฟแนนซ์ก่อนส่งมาไทย
พ.ต.ท.กรวัชร์กล่าวถึงพฤติการณ์ของขบวนการขโมยรถยนต์ข้ามชาติว่า เบื้องต้นทราบว่ามีการนำเงินไปซื้อรถยนต์ และนำไปเข้าไฟแนนซ์เพียงครั้งเดียว จากนั้นไปแจ้งหาย ก่อนจะนำรถยนต์มาลงเรือเพื่อส่งมาที่ประเทศไทย ทางประเทศอังกฤษบอกว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของประเทศเขา หน่วยต่อต้านฯจะเอารายละเอียดและกระบวนการกระทำผิดทั้งหมดส่งมาให้ดีเอสไอต่อไป แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องในสำนวนคดี อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้บอกว่าบริษัทที่นำเข้ารถยนต์เหล่านี้ผิดทุกบริษัท เพราะยังมีหลายบริษัทประกอบการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประชาชนที่จะซื้อรถยนต์ประเภทนี้ ขอให้ตรวจสอบอย่างละเอียดและใช้ความระมัดระวังในการซื้อด้วย
นายกุลิศกล่าวว่า หลังจากนี้กรมศุลกากรจะทำงานร่วมกับดีเอสไอในการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้ารถยนต์หรูแบบเรียลไทม์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทำงานกันคนละฐานข้อมูล ที่ผ่านมากรมศุลกากรก็ดำเนินการตามวิธีการของศุลกากร เมื่อมีการสำแดงราคาตามใบขนสินค้าครบ ยื่นเอกสารครบ ทางกรมก็จะปล่อยรถยนต์ออกไป ส่วนกรณีที่เกิดเหตุการณ์หลายอย่างขึ้นนั้น กรมไม่ได้นิ่งนอนใจในการค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับราคาจริงของสินค้าจากประเทศต้นทาง แต่กรมศุลกากรก็ไม่ทราบว่าผู้ซื้อกับผู้ขายมีการตกลงราคากันอย่างไร เพราะเป็นข้อตกลงทางการค้า ดังนั้นเมื่อดีเอสไอได้ราคาที่แท้จริง กรมศุลกากรก็จะประสานทางดีเอสไอเพื่อตรวจสอบย้อนหลังกลับไป 5 ปี ว่ามีการเสนอราคาตามที่มีการตรวจสอบหรือไม่ ส่วนกรณีของรถยนต์ถูกโจรกรรมในอังกฤษ กรมศุลกากรก็ทำงานร่วมกับดีเอสไอทันที เพื่อห้ามการเคลื่อนย้าย และตรวจสอบว่ารถยนต์อยู่ที่ไหนบ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ
กรมศุลฯยันไม่ทราบราคาแท้จริง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้กรมศุลกากรไม่ทราบราคาที่แท้จริงของรถยนต์หรูใช่หรือไม่ ที่มีการระบุในใบขนสินค้า นายชัยยุทธกล่าวว่า หลักการตรวจสอบรถยนต์ของกรมเป็นไปตามสากล โดยปกติจะเชื่อราคาของผู้ประกอบการตามที่มีการสำแดงในใบขนสินค้า เว้นแต่ว่ามีเหตุสงสัยหรือมีราคาชัดเจน และพิสูจน์ได้ว่าสำแดงราคาต่ำ จึงจะไม่ปล่อยรถยนต์ออกไป แต่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้สำแดงราคาและมีหลักฐานให้กับผู้ที่อยู่ต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่ผู้นำเข้ายื่นใบขนสินค้าก็ได้ทำตามขั้นตอนครบถ้วน กรมศุลกากรจึงไม่มีเหตุในขณะที่นำเข้าว่าผู้ประกอบการได้ยื่นใบสำแดงในราคาต่ำ แต่เมื่อดีเอสไอได้หลักฐานเพิ่มเติมมาว่ามีผู้ประกอบการบางรายยื่นชำระค่าภาษีต่ำโดยมีหลักฐานที่ชัดเจน ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าเงินที่มีการสำแดงสกุลเงินในใบขนสินค้า เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบหรือไม่ ว่าผู้ซื้อสำแดงราคาตรงตามประเทศต้นทางหรือไม่ นายชัยยุทธกล่าวว่า ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับการซื้อขายของผู้ประกอบการว่าได้มีการตกลงการซื้อขายกันในสกุลเงินอะไร เช่น ถ้าซื้อขายในสกุลเงินของประเทศสหรัฐ ก็ต้องใช้สกุลเงินของประเทศสหรัฐ ส่วนกรณีหากมีการปลอมใบขนสินค้าที่อาจทำให้ราคาเกิดความแตกต่างจากราคาจริงนั้น ขั้นตอนการตรวจสอบขณะนำเข้าไม่สามารถทำได้ เพราะราคาซื้อขายจริงมีแค่ 2 คน คือผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้นที่ทราบ จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นราคาที่ถูกต้องหรือไม่
เผยผู้ดีแจ้งรถหรูหายเพียบ ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าที่ผ่านมา รถยนต์ที่มีราคาสูงจะใช้ราคาในระดับที่ดีเอสไอตรวจสอบว่ามีการสำแดงต่ำทั้งหมดใช่หรือไม่ นายชัยยุทธกล่าวว่า "ใช่ ถูกต้อง เราไม่เคยรู้ราคาที่แท้จริงมาก่อน กระทั่งดีเอสไอได้ราคาที่แท้จริงมา จึงทำให้เราทราบ หลังจาก 3-4 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการนำเข้ารถยนต์หรูลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม เราตรวจสอบราคารถยนต์ประเภทนี้ภายใต้การประเมินราคาของศุลกากรขององค์การการค้าระหว่างประเทศ ใช้หลักการของราคาสินค้าจริงโดยไม่มีราคากลาง นอกจากนี้ หลังจากที่ได้รับข้อมูลจากดีเอสไอแล้ว เป็นรถยนต์ที่มีการสำแดงราคาต่ำ เราจะเร่งตรวจสอบรถที่นำเข้ามาภายมาภายใต้หลักฐานที่ได้จากดีเอสไอ ว่าผู้ใดเป็นผู้นำเข้าและก็ต้องดำเนินการทางคดีต่อไป"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อรถยนต์ที่ประเทศอังกฤษแจ้งมายังดีเอสไอ ประกอบด้วย รถยนต์ยี่ห้อ ออดี้ รุ่น คิวเซเว่น เอส ไลน์ บีเอ็มดับเบิลยู เอ็ม 4 ฮอนด้า ซีวิค จีที ลัมโบร์กีนี ฮูราแคนสไปเดอร์ เมอร์เซเดสเบนซ์ จีแอลอี 350 ปอร์เช่ บ๊อกเซอร์ 718 ในจำนวนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าอยู่ที่ใด นอกจากนี้ ยังมีบีเอ็มดับเบิลยู เอ็ม 4 จำนวน 2 คัน และปอร์เช่ คาเยนน์ 1 คัน ทราบชื่อผู้ครอบครองแล้ว ส่วนอีก 1 คัน เป็นรถยนต์ ปอร์เช่ 718 อยู่ในเขตปลอดภาษีอากรของกรมศุลกากร
ตรวจพบนักร้อง'ด.'นำมาฝากขาย ทั้งนี้ ยังมีบัญชีรายชื่อรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมอีก 42 คัน ที่หน่วยต่อต้านอาชญากรรมรถยนต์ของประเทศอังกฤษส่งมาให้ดีเอสไอ ประกอบด้วย รถยนต์ออดี้ 2 คัน บีเอ็มดับเบิลยู 7 คัน เฟอร์รารี 1 คัน เฟียต 1 คัน ฟอร์ด 1 คัน ฮอนด้า 3 คัน ลัมโบร์กีนี 1 คัน แลนด์โรเวอร์ 1 คัน เลกซัส 1 คัน เมอร์เซเดสเบนซ์ 8 คัน มินิคูเปอร์ 1 คัน นิสสัน 3 คัน ปอร์เช่ 6 คัน เรนจ์โรเวอร์ 2 คัน โรลส์รอยซ์ 2 คัน และโฟล์กสวาเกน 2 คัน
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบพบว่าหนึ่งในรถยนต์ที่ดีเอสไอพบว่ามีการแจ้งข้อมูลจากประเทศอังกฤษว่าถูกโจรกรรมมาคือรถสปอร์ตหรูลัมโบร์กีนีสีเขียว มีนักร้องหนุ่ม ชื่อย่อ ด. ครอบครองและนำมาฝากขายที่โชว์รูมของบริษัทที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย