เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ภาพรวมของฝนจากการตรวจสอบแบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) พบว่าปีนี้ฝนจะเยอะเดือนพฤษภาคม ปริมาณฝนจะมาก ส่วนเดือนมิถุนายนจะเริ่มน้อยลง และจะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม และเดือนกันยายน ตุลาคม ฝนจะกลับมาอีกครั้ง กระทั่งเดือนพฤศจิกายน เข้าสู่ฤดูหนาวฝนก็จะน้อยลง คาดว่าช่วงเวลาดังกล่าว น่าจะเข้าสู่ช่วงเวลาของปรากฏการณ์เอลนีโญ
"มีปรากฏการณ์ที่เราไม่ค่อยได้เจอบ่อยนักในช่วงเริ่มต้นฤดูฝน คือฝนตกทุกพื้นที่พร้อมๆกันหมด ตั้งแต่ภาคใต้ ภาคกลาง ขึ้นไปถึงภาคเหนือ คือตกทั่วประเทศพร้อมกัน ซึ่งปกติแล้วฝนจะตกเป็นภาคๆตามแนวฝน โดยเคลื่อนจากภาคใต้มาทางภาคกลาง แล้วจึงขึ้นไปภาคเหนือ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สาเหตุมาจากปกติแล้วฤดูฝนนั้นเราจะได้รับอิทธิพลมาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเดียว แต่เวลานี้ เราได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทั้งจากทะเลอันดามัน ทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย พัดมาเสริมพร้อมๆกัน อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำอีกด้วย" ผอ.สสนก. กล่าว
เมื่อถามว่า สถานการณ์การเกิดฝนตกหลังจากวันนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง นายรอยล กล่าวว่า ตรวจสอบจากวาฟ-รอม พบว่าวันที่ 17 พ.ค.หลายพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ปริมาณฝนตกสะสมช่วง 24 ชั่วโมง ระบบโทรมาตรอัตโนมัติ ตรวจวัดปริมาณฝนสะสม ถึงเวลา 10.00 น. พบฝนตกหนักมาก กระจุกตัวอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.เลย 239 มิลลิเมตร (มม.) แพร่ 124 มม. อุตรดิตถ์ 114 มม. สุโขทัย 111 มม. ลำปาง 109 มม.น่าน 107 มม. เชียงใหม่ 103 มม. พิษณุโลก 96 มม. หนองบัวลำพู 90 มม. กรุงเทพมหานคร 91 มม.
"สำหรับกรุงเทพนั้นปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งวันนั้น น่าจะอยู่ที่ 40-50 มม. โดยตกๆหยุดๆเกือบตลอดทั้งวัน ในช่วงค่ำๆประมาณ 19.00 น. วันที่ 17 พ.ค. จะตกหนักลงมาอีกรอบ เพราะหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเมียนมา จะเคลื่อนที่เข้ามาปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้กระแสลมหมุนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ และจะดึงเอาลมใต้ให้พัดเอาฝนจากบริเวณอ่าวไทย เข้าสู่กรุงเทพฯและปริมาณฑล สภาพการดังกล่าวนี้ จะทำให้มีฝนตกต่อเนื่องอีกจนถึงวันที่ 18 พ.ค. คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 60-70 มม.จะต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมขังหลายๆจุด" นายรอยล กล่าว