คู่มือ "เรตติ้ง" เน้นเพื่อเด็ก เริ่มใช้ 1กย. นี้
หลังจากผู้ผลิตและคนทำงานโทรทัศน์ร่วมถกกับภาครัฐมานานนับเดือนถึงแนวทางที่เหมาะสมในการจัดทำ คู่มือเรตติ้งรายการโทรทัศน์ จนถึงวันที่ได้ฤกษ์ประกาศใช้ โดยผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 ส.ค. ที่กรมประชาสัมพันธ์ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต. สำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติ ให้ใช้คู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ หลังจากคณะทำงานได้ปรับปรุงรายละเอียดคู่มือดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยจะนำคู่มือมาทดลองใช้ 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการเพิ่มรายการโทรทัศน์ในลักษณะเพื่อครอบครัว คือ รายการที่จัดอยู่ใน ประเภท ท ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ครอบครัวได้นั่งดูรายการด้วยกัน รวมถึงการเพิ่มรายการ ประเภท ป ที่เป็นรายการสำหรับเด็กปฐมวัย 3-5 ปี และ รายการประเภท ด สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี เพิ่มขึ้นด้วย
เป็นไปตามที่ผู้ผลิตรายการแต่ละสถานีเห็นพ้องต้องกัน ถือเป็นความร่วมมือที่ดีมากของทุกสถานีโทรทัศน์ที่เต็มใจ นำเสนอเรื่องขึ้นมาเอง ทั้งนี้หลังจากปรับผังรายการแล้วจะมีการประเมินผลทุกเดือนว่าแต่ละรายการที่เสนอเพิ่มไปมีความเหมาะสมเพียงใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างทดลองใช้คู่มือ จะนำการ กำหนดช่วงเวลามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ คุณหญิงทิพาวดี ตอบว่าช่วงการกำหนดเวลาเป็นหัวใจของการจัดระดับความ เหมาะสมของรายการโทรทัศน์ เพราะเจตนาคือการจัดเวลา กับประเภทของรายการให้สอดคล้องกับผู้ชม จะทำให้ตาราง เวลาในการจัดผังรายการและตารางเวลาของผู้ชมสอดคล้องกันด้วย อย่างไรก็ตาม ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทำเรื่องนี้ จึงยังคงมีความแตกต่างอยู่บ้าง โดยเฉพาะช่วงเวลาไพร์มไทม์ที่ยังมีปัญหาอยู่ว่า จะเอาช่วง 20.00 น. หรือ 20.30 น. หรือ 21.00 น. ทั้งนี้ หากรายการประเภท ท มาอยู่ในช่วงไพร์มไทม์ได้ทั้งหมด จะเป็นอุดมคติที่ทุกฝ่ายพอใจ ดังนั้น จึงต้องขอดูของจริงกันก่อน
นายสมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า การกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่นี้ ต้องดูความเป็นจริง เพื่อให้ทำงานได้ตามข้อกำหนด หลัง จากนี้จะนำคู่มือดังกล่าวไปชี้แจงให้ผู้จัดรายการทั้งหมดทราบว่า รายการที่จัดอยู่นั้นอยู่ในประเภทใด เพื่อปรับ รายการให้อยู่ในเรตที่ต้องการ ส่วนเรื่องเวลาไพร์มไทม์จะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงแต่ดูเนื้อหาให้เข้าลักษณะขึ้น
ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าว อีกด้วยว่า ขณะเดียวกันจะส่งเสริมผู้ปกครองให้เข้าใจว่า สัญลักษณ์ของแต่ละรายการเหมาะกับผู้ชมวัยใด โดยจะเปลี่ยนสัญลักษณ์ใหม่เป็นตัวเลข เพื่อให้รู้ว่าเป็นรายการที่เหมาะกับวัยใด โดยจากนี้จนถึงสิ้นปีคงไม่มีการปรับผัง รายการ แต่ต้องปรับในรายละเอียดเนื้อหา เช่น ละครช่วง 19.00 น. ต้องระวังเรื่องความรุนแรงให้มากขึ้น หรือเพิ่มองค์ ความรู้เข้าไปมากขึ้น รวมถึงระวังเรื่องการใช้ภาษา เรื่องเพศให้มากขึ้น
ส่วนการปรับเนื้อหารายการในช่วงเวลาไพร์มไทม์ จะมีผลต่อจำนวนผู้ชมและมีผลกระทบต่อค่าโฆษณาที่สถานีจะได้รับหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ในวันนี้ เพราะคนดูเป็นปัจจัยที่พูดได้ยาก หากละครเรื่องหนึ่งมี คนดูมาก แต่อีกเรื่องไม่มีคนดู ก็ต้องมาหาสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใด รายการทีวีไม่สามารถจะอยู่ไปตลอดชีวิต มันก็มีอายุของมัน
ข้อมูลและภาพประกอบจาก