เตือนจุดบั้งไฟ ผวาพุ่งชนเครื่องบิน บ.วิทยุการบินฯ หารือคมนาคม มหาดไทย เร่งแจ้งผู้จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในภาคอีสาน ต้องขออนุญาต พร้อมแจ้งวันเวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ทำบั้งไฟ ขนาดความสูง และจำนวนด้วย อย่างน้อย 7 วันก่อนเริ่มงาน ผอ.สนามบินอุบลฯ เผย นักบินเจอบั้งไฟถูกยิงขึ้นท้องฟ้า จนต้องเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจนใจหายหลายครั้งหลายหน เหตุจากดอนเมืองมาต้องผ่านหลายจังหวัด อีกทั้งเคยเห็นบั้งไฟอยู่ห่างตัวเครื่องบินแค่ 30 เมตร
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงประเพณีบุญบั้งไฟที่เริ่มขึ้นระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. ของทุกปี ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญประจำปีของคนไทยในภาคอีสาน ประกอบกับวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาประดิษฐ์บั้งไฟในปัจจุบันนี้ก็มีการพัฒนาตามไปด้วย จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายทางการบินได้ ปีนี้วิทยุการบินฯ สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือ และแจ้งย้ำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่จะจัดงานเทศกาลบุญบั้งไฟ เพื่อประชา สัมพันธ์ให้ขออนุญาตจุดบั้งไฟไปยังหน่วยงานปกครองในพื้นที่ก่อนการจัดงาน เพื่อการนำข้อมูลมาจัดทำเป็นข่าวประกาศนักบินซึ่งจะจัดทำแสดงผลบ่งชี้ตำแหน่งของการจุดบั้งไฟ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจจัดทำแผนการบินและการทำการบินของนักบิน รวมถึงเป็นข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศในการอำนวยความสะดวกแก่สายการบินในแต่ละเที่ยวบิน
"สำหรับการขออนุญาตจุดบั้งไฟนั้น ประชาชนหรือผู้จัดงานจะต้องทำหนังสือขออนุญาตจุดบั้งไฟถึงอำเภอและจังหวัด โดยแจ้งรายละเอียดพื้นที่การจุดบั้งไฟ ระบุที่ตั้ง หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และวันเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจุดบั้งไฟ วัสดุอุปกรณ์ในการทำบั้งไฟ ขนาดความสูงและจำนวนของบั้งไฟ รวมถึงชื่อผู้จัดงานเพื่อการประสานงานได้ทันที โดยสามารถโหลดแบบฟอร์ม ได้ที่ www.aviation.go.th โดยต้องแจ้งอย่างน้อย 7 วัน ก่อนจุดทุกครั้ง" นางสาริณีระบุ
นางสาริณีที่กล่าวต่อว่า สำหรับสถิติที่จังหวัดมีการแจ้งขอปล่อยบั้งไฟมากที่สุดได้แก่ จ.อุดรธานี 14,251 ลูก รองลงมาคือ จ.ร้อยเอ็ด 8,753 ลูก จ.กาฬสินธุ์ 8,598 ลูก จ.ขอนแก่น 3,217 ลูก จ.ศรีสะเกษ 2,820 ลูก ส่วนกรณีที่ท้องถิ่นไม่ได้มีการแจ้งขออนุญาตจุดบั้งไฟโดยมีการลักลอบจุด และบทว.ไม่ได้มีการแจ้งโดยมีการพบเห็นบั้งไฟโดยนักบินที่ทำการบินมีจำนวนรวม 22 ครั้ง ระหว่างเดือนพ.ค.-มิ.ย.
โดยจังหวัดที่มีการพบเห็นสูงสุดคือ จ.ขอนแก่น รวม 11 ครั้งในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ย. รองลงมาได้แก่ จ.อุดรธานี 4 ครั้ง จ.อุบล ราชธานี 3 ครั้ง จ.บุรีรัมย์ 2 ครั้ง จ.สกลนคร 1 ครั้ง และจ.เชียงราย 1 ครั้ง โดยนักบินสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ พบเห็นบั้งไฟที่ระดับความสูงมากที่สุด 11,000 ฟุต ที่จ.อุดรธานี ในวันที่ 28 มิ.ย. 2559 อยู่ห่างจากเครื่องประมาณ 9 กิโลเมตร รองลงมาพบเห็นในระดับความสูงที่ 10,000 ฟุต ที่จ.สกลนคร, ขอนแก่น และอุดรธานี โดยสายการบินนกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ การบินไทย และไทยแอร์เอเชีย และยังพบบั้งไฟอยู่ห่างจากตัวเครื่องของไทยแอร์เอเชียเพียง 30 เมตร
ขณะที่นายธวัช สุระบาล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจดูความสงบเรียบร้อยของการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในเขตพื้นที่จ.ศรีสะเกษ ไม่พบว่ามีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งตนได้กำชับให้ผู้จัดงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัย ในการจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ตามประกาศจ.ศรีสะเกษ ประจำปี พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด
นายธวัชกล่าวต่อว่า ในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟตามประกาศจ.ศรีสะเกษ ซึ่งได้ส่งไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า หากจะทำการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟจะต้องขออนุญาตต่อนายอำเภอท้องที่ หากมีการฝ่าฝืนจะ ต้องถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับ ไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 27/2559 ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2559
"หากว่ามีการอนุญาตให้มีการจุดบั้งไฟ ที่ใด ทางอำเภอที่เป็นผู้อนุญาตจะต้องแจ้งกำหนดการจุดบั้งไฟไปยังสนามบินนานาชาติ จ.อุบลราชธานี ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน และจะต้องระบุตำแหน่ง วัน เวลา สถานที่จุดบั้งไฟ รวมทั้งโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้จำนวน 2 เลขหมาย เพื่อให้สนามบินได้รับทราบ เนื่องจากว่าการจุดบั้งไฟส่งผลกระทบต่ออากาศยานที่บินผ่านเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพราะอยู่ใกล้กับสนามบิน จ.อุบลราชธานี โดยขนาดของบั้งไฟจะต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 นิ้ว และจุดได้ไม่เกินวันละ 12 บั้ง หมู่บ้านที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดงานอย่างเด็ดขาด หากว่าหมู่บ้านใดฝ่าฝืนจะต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนผู้นำหมู่บ้านและลงโทษตามกระบวนยุติธรรมทั้งจำทั้งปรับ" ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าว
ส่วนที่บริเวณหน้าอำเภอเมืองยโสธร ถนนแจ้งสนิท นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญบั้งไฟ จ.ยโสธร ประจำปี 2560 โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผวจ.ยโสธร พร้อม รองผวจ. นายกเทศมนตรีเมืองยโสธร หัวหน้าส่วนราชการ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 20,000 คน เข้าร่วมงาน อย่างคับคั่ง โดยปีนี้จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟสุดยิ่งใหญ่ เนื่องจากครบรอบ 23 ปี ความสัมพันธ์เมืองคู่แฝดระหว่าง จ.ยโสธร กับ เมืองชิชิบุ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีประเพณีบุญบั้งไฟร่วมกัน
ด้านนายกิติชัย สัจจลักษณ์ ผอ.การท่าอากาศยานอุบลราชธานี เปิดเผยว่า เส้นทางสายการบินระหว่างสนามบินดอนเมือง ถึงสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี จะมีเครื่องบินโดยสาร กว่า 30 ลำ นำเครื่องมารับและส่งผู้โดยสารประจำทุกวัน วันละ 5 เที่ยวบิน โดยนักบินต้องลดเพดานบินต่ำประมาณ 5,000 ฟิต ถึง 2,000 ฟิต ตั้งแต่พื้นที่เส้นทาง การบินจ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และลดระดับลงมาเรื่อยๆ เมื่อเข้าเขตอ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และจะลดลงมาต่ำอีกในความสูงแค่ 2-3 ก.ม.เข้าเขตต.ห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ และเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานีเพื่อลงจอดที่สนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ความปลอดภัยการคมนาคมของสนามบินในรัศมี 20 ก.ม. และระดับต่อไปคือเข้าเขตอันตรายขีดสีแดงโดยรอบสนามบิน รัศมี 10 ก.ม.ต้องเป็นเขตปลอดภัยสูงสุดเพื่อให้เครื่องบินทุกประเภทเทียบเครื่องลงจอด แต่จุดดังกล่าวพบว่าเป็นจุดอันตรายทุกครั้ง นักบินจะพบบั้งไฟถูกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้า จนต้องเสี่ยงต่ออุบัติเหตุแทบใจหายหลายหน จึงวอนขอความร่วมมือกับผู้นำชาวบ้านที่จัดงานประเพณีจุดบั้งไฟ กรุณาช่วยแจ้งการจัดงานประเพณี ก่อนล่วงหน้าให้ศูนย์ควบคุมการบินอุบลราชธานีทราบด้วย