วันที่ 28 เมษายน เป็นวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นับเป็นอีกวันหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ที่ทั้งสองพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 อันเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
ย้อนกลับไปในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ทรงพบกับม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาใน ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตประจำประเทศเดนมาร์กและฝรั่งเศส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดกรุงปารีสและโปรดเส้นทางหลวงข้ามประเทศ ซึ่งมีความยาวถึง 350 ไมล์ ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเพื่อไปทอดพระเนตรการแสดงของวงดนตรีที่มีชื่อเสียงตามสถานมหรสพต่างๆอยู่เสมอ
พ.ศ.2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในฝรั่งเศส เพื่อให้คันเก่าที่ทรุดโทรมได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง ครั้งแรกที่เสด็จฯ ไปปารีส สมเด็จพระราชชนนีมีรับสั่งให้ทอดพระเนตรลูกสาวของ ม.จ.นักขัตรมงคลด้วยว่า "สวยน่ารักไหม" และยังได้กำชับว่า "ถึงปารีสแล้วโทรบอกแม่ด้วย" และครั้งนั้น เมื่อพระองค์เสด็จฯ ถึงปารีสแล้ว ทรงโทรศัพท์ถึงสมเด็จพระราชชนนีว่า "เห็นแล้ว น่ารักมาก"
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่นอกเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สิ่งแรกเมื่อรู้สึกพระองค์คือทรงหยิบรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากพระกระเป๋า ส่งถวายสมเด็จพระราชชนนี พร้อมทั้งรับสั่งว่า "แม่เรียกสิริมาที" ในการประชวรครั้งนั้น ทางราชการได้จัดส่งคณะผู้แทนรัฐบาลไปเข้าเฝ้าฯ ด้วย มีรับสั่งให้ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์เข้าเฝ้าฯ เป็นพิเศษ มีพระราชกระแสรับสั่งว่า "ทรงรักหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อย่างแน่นอน" จากนั้นทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ด้วยพระธำมรงค์เพชร ที่มีหนามเตยรูปหัวใจเล็กๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยพระราชทานหมั้นสมเด็จพระราชชนนี
กระทั่งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จนิวัติพระนคร และโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน ปีเดียวกัน และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
ในหนังสือ รักแรกมหาราช โดย ธุลีพระบาท กล่าวไว้ว่า ณ สถานที่ประกอบพระราชพิธีอันมีเกียรติยิ่งนั้น ประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นผู้ใหญ่ลงมาถึงขั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ทั้งสองพระองค์ยังทรงเลือกเชิญเพียงบางองค์มาในพระราชวโรกาสนี้เป็นพิเศษ ส่วนเชื่อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า จะทรงเชิญแต่ญาติสนิทของหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร กับหม่อมเจ้าแห่งราชตระกูล กิติยากร และเชื้อสายทางสนิทวงศ์ ของฝ่ายมารดาเท่านั้น โดยผู้ประกอบพระราชพิธีตามกฎหมายให้นั้น คือนายฟื้นบุญ ปรัตยุทธ นายอำเภอปทุมวันเป็นนายทะเบียน และมีพยาน 2 คนคือ จอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และ พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็ได้ถ่ายทอดมายังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทรงงานร่วมกันเนื่องมามิได้ขาด