10.20 น. วันที่ 28 เมษายน 2560 ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายกลินที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาว่า นายเดวีส์ได้พาเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของสหรัฐอเมริการะดับสูง ซึ่งไม่ได้เดินทางมาอย่างเป็นทางการ แต่มาพบปะนายกรัฐมนตรีในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุมอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือ โดยสหรัฐได้แสดงข้อกังวลทั้งปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ปัญหาทะเลจีนใต้ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นว่าจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างไร
"เราได้บอกไปว่าทุกเรื่องเรามีจุดยืนที่ชัดเจน เช่น ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี เรามีมติของสหประชาชาติที่เราปฏิบัติตามและคิดว่าน่าจะมีการหารือกันในอาเซียนด้วย แต่ปัญหาทะเลจีนใต้ถือว่าการแก้ปัญหามีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ละฝ่ายไม่ได้มีประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งบานปลาย ซึ่งจะมีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีให้เรียบร้อยโดยเร็ว" พล.ท.วีรชนกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สหรัฐอเมริกาได้ขอให้ไทยไปพูดในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่ปฏิบัติตามมติสหประชาชาติเรื่องความร่วมมือแก้ปัญหาคาบสมุทรเกาหลีหรือไม่ พล.ท.วีรชนกล่าวว่า "สหรัฐไม่ได้พูดตรงๆ เพียงขอรับการสนับสนุนให้ช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งเราบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องอาเซียนที่จะต้องหารือร่วมกัน ไทยคงไม่สามารถตัดสินใจแทนประเทศใดประเทศหนึ่งได้ ต้องเป็นฉันทามติของกลุ่มประเทศอาเซียน แนวโน้มจะเป็นอย่างไรเราก็คงยังตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในเวทีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าน่าจะมีการหารือเรื่องเหล่านี้" พล.ท.วีรชนกล่าว
พล.ท.วีรชนกล่าวว่า นอกจากนี้ ในการหารือ นายกฯได้ชี้แจงถึงประเด็นการเมือง ซึ่งขณะนี้เราได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เท่ากับประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ความเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ มีการเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปและขั้นตอนที่ได้วางไว้ ช่วงต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องของการผ่านร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้พูดคุยถึงกรอบการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่ามีวัตถุประสงค์ มีหลักเกณฑ์การปฏิบัติ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้อย่างไร ซึ่งยุทธศาสตร์ 20 ปี แม้มีเวลายาวนาน แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะประกอบไปด้วยแผน 5 ปี 4 แผน พร้อมที่จะมีการปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงต่างๆ ที่เหลือเป็นการหารือในเรื่องการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ซึ่งไทยได้ขอบคุณสหรัฐที่มีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องแม้จะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ก็มีแนวโน้มและทิศทางที่ดี ประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐ โดยเฉพาะปัจจุบันสหรัฐมีรัฐบาลใหม่ แต่ไทยก็ยืนยันว่ามีความพร้อมในการร่วมมือในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง
เมื่อถามว่า ได้ถือโอกาสพูดคุยกันถึงแนวทางความร่วมมือต่อไปอย่างไร หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศใช้นโยบายโดดเดี่ยวนิยม (อเมริกันเฟิร์สต์) พล.ท.วีรชนกล่าวว่า ได้มีการพูดถึงเฉพาะในส่วนของประเทศไทย เรายังมั่นใจว่าในนโยบายของนายทรัมป์ยังคงมีศักยภาพสำหรับความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับประเทศไทย เพราะเรามีความสัมพันธ์กันมายาวนานถึง 184 ปี มีความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งทางสหรัฐยืนยันว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญในภูมิภาค ยืนยันความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ต่อไป