น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึง ผลการประชุมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ตและเกมเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
มีข้อสรุปที่สำคัญ คือ
1.การกำหนดเวลาให้บริการเกมสามารถเปิดให้บริการได้ตามอัธยาศัยหรือตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในช่วง 10.00-22.00 น. แต่สำหรับต่างจังหวัดให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายทะเบียนหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด เนื่องจากถือว่าเป็น CEO ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรมไม่มีสิทธิ์เข้าไปก้าวก่ายการทำงาน นอกจากให้คำแนะนำแนวทางเท่านั้น
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า
เรื่องต่อมา คือการขอใบอนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์
ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ที่นำมาใช้แทนพระราชบัญญัติเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งยังไม่มี ทั้งนี้จะผ่อนผันให้ขอใบอนุญาตฯได้ถึงวันที่ 30 เม.ย. นี้ และสุดท้ายคือ การขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้เข้าร่วมเป็นกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และให้การช่วยเหลือสังคม
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมเป็นอย่างดีและเพิ่มขึ้นมาก ทั้งในเรื่องการดูแลเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และการขอใบอนุญาตฉายฯ ในจุดนี้มีแนวคิดสำคัญ คือ มองว่าผู้ประกอบการเป็นพันธมิตรของเรา ไม่ใช่มิจฉาชีพที่ทำร้ายเด็ก และชวนให้เขาเข้ามาเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง เพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งผู้ประกอบการต่างก็ให้ความสนใจและเสนอตัวช่วยเหลือภาครัฐหลายด้าน เช่น อาสาจัดทำรายชื่อเกมที่ไม่เหมาะสมเพื่อจัดทำ Rate ของเกม การเป็นสื่อช่วยเผยแพร่ข้อมูลของรัฐ เป็นต้น น.ส.ลัดดา กล่าว
ด้าน นายชวพงษ์ นัยนะแพทย์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สมาพันธ์ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
ทางสมาพันธ์ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ส่วนสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเพิ่มขึ้นก็คือ ปัญหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทุกวันนี้ ยังมีกรณีเข้าจับกุมร้านอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีหมายค้น ซึ่งตามกฎหมายเป็นสิ่งไม่สามารถกระทำได้ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก