นายคำรณ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลทุกเทศกาล สะท้อนจากข้อมูล 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงถึง 3,447 ครั้ง ทำให้เสียชีวิต 442 คน บาดเจ็บ 3,656 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ สาเหตุอันดับหนึ่งคือการเมาสุรา รองลงมาขับรถเร็วเกินกำหนด
จากที่เครือข่ายฯ ได้เฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูล พบว่าในช่วงสงกรานต์ของทุกๆ ปี จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดงานอีเว้นท์ต่างๆ งานคอนเสิร์ต 1,000 จุดทั่วประเทศ มีคนเข้าร่วมงานในแต่ละงานตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นคน ที่สำคัญมีการขายเหล้าเบียร์ รวมทั้งส่งเสริมการขายโดยไม่สนใจกฎหมาย และจากการติดตามแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะพบว่ามีหลายมาตรการ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการเดิม ยังไม่จัดการกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง ผู้ดื่มจึงกลายเป็นเป้า ส่วนผู้ผลิต ผู้ขายกลับลอยตัว และกอบโกยบนความสูญเสีย จึงกังวลว่าในปีนี้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น หากยังไม่ใช้ยาแรงจัดการที่ต้นทางปัญหา คือน้ำเมา
ทั้งได้มีข้อเสนอไปยังต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาล คสช.ออกมาตรการห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมคอนเสิร์ต และอีเว้นท์ต่างๆ ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย 2.ขอให้ยกเลิกการออกใบอนุญาตขายสุรา ประเภทชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยกเลิกตลอดไป เนื่องจากเป็นปัญหาที่ยากต่อการควบคุม 3.ขอให้ทบทวนความผิดฐานเมาแล้วขับ ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ลดลงจาก 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เหลือที่ 20 หรือ 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และเรียกร้องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งผู้ผลิตและจำหน่าย ร่วมมือกับภาครัฐในการจัดกิจกรรมที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุอันมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง