"รางวัลสมชาย นีละไพจิตร" ประจำปี 2560 ประกาศมอบให้กับผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษนชนในประเทศไทย โดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า ผู้ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประจำปี 2560 ได้แก่ น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน จากการทำงานในสามจังหวัดชายแดนใต้และคดีการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 โดยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวหรือถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และคดีเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในข้อหาทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดย ไผ่ ดาวดิน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยไผ่และเพื่อนนั้นสนใจประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย ทำกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของนักศึกษา ก่อนที่จะถูกคุมขังและยังไม่ได้รับการประกันตัว
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย โดยชาววังสะพุงจึงรวมตัวกันเป็น "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" ขึ้นเมื่อปี 2549 มาจนวันนี้ก็สิบปีแล้วที่ชาววังสะพุงต่อสู้กับทุนและรัฐ ถูกข่มขู่คุกคามในหลายรูปแบบ ทั้งด้วยการใช้กำลัง และถูกกลั่นแกล้งทางกฎหมายด้วยการฟ้องคดี นอกจากการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของตนแล้ว กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังสนับสนุนกลุ่มอื่นๆ ในเครือข่ายที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มในภาคอีสาน
กลุ่มแรงงานชาวพม่า 14 คน ที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยไปทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ฟาร์มดังกล่าวส่งไก่จำหน่ายให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตไก่ส่งออกขนาดใหญ่รายหนึ่ง ภายใต้ธุรกิจขนาดใหญ่นี้ คนงานภายในฟาร์มต้องอยู่กับสภาพการทำงานที่ถูกกดขี่ คือทำงานวันละ 20 ชั่วโมง (จะได้พักก็แค่ช่วงตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า และอีกครั้งเวลาห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม) ไม่มีวันหยุด ไม่ได้ออกนอกโรงงานโดยไม่มีผู้คุม ทำงานได้เงินวันละ 230 บาทโดยไม่มีค่าล่วงเวลา ไม่มีประกันสังคม แรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คนได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงาน พวกเขาฟ้องนายจ้าง คือบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี และบริษัทส่งออกไก่ยักษ์ใหญ่ เป็นเงิน 44 ล้านบาท เพื่อให้ชดเชยการใช้แรงงานตลอดเวลาเกือบ 5 ปี