เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้อง พิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ถอดพระธัมมชโย ออกจากสมณศักดิ์ ว่าทางมหาเถรสมาคมควรดำเนินการต่อ เพราะสถานะของพระธัมมชโยก็เป็นเพียงพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งเท่านั้นที่ไม่มีสมณศักดิ์ ฉะนั้นหากมีการกระทำผิดหรือล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และมีข้อคดีความมากมาย ตามกฎหมายเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ.2538 ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ ทั้งนี้ให้อำนาจคณะปกครองสงฆ์ประกาศให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุสงฆ์ได้ หรือเป็นการจับสึกกลางอากาศ เป็นการที่ไม่ต้องเรียกมาพูดคุยหรือนำตัวมาก็สามารถสึกได้เลย เมื่อทางสงฆ์มีการทำเช่นนี้แล้วสถานะของพระธัมมชโยก็จะเป็นเพียงนายไชยบูลย์ สุทธิผล ไม่ได้เป็นพระสงฆ์แล้ว ดังนั้นการเป็นนายไชยบูลย์และมีหมายจับด้วย หากคณะลูกศิษย์ที่อยู่วัดธรรมกายยังจะปกป้องต่อไปก็จะขาดข้ออ้าง ไม่มีความชอบธรรมที่จะอ้างว่าปกป้องพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาได้แล้ว เพราะถ้ายังปกป้องอยู่ก็จะถูกดำเนินคดีทางอาญาได้
นายวินัย ละอองสุวรรณ เป็นชาวนครศรีธรรมราช ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เขาได้ปฏิบัติตนเป็นนักพรตฤๅษีอยู่หลายปีจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2517 ณ พัทธสีมาวัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระวินัย เมื่ออุปสมบทมักใช้คำแทนตัวว่า พระยันตระ ซึ่งแปลว่าผู้ไกลจากกิเลส ที่เคยใช้มาตั้งแต่ยังเป็นฤๅษียันตระ เมื่อบวชแล้วเป็นที่รู้จักดีทำให้มีผู้ศรัทธาบวชเพื่อเข้าเป็นลูกศิษย์มากมาย ทำให้เขามักแวดล้อมไปด้วยพระสงฆ์คอยอุปัฏฐากอยู่เสมอ ๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ศรัทธาสร้างสำนักวัดถวายเขาหลายแห่ง โดยทุกวัดที่สร้างในสำนักเขาจะใช้คำว่า "สุญญตาราม" ประกอบด้วยเสมอ สำนักที่เป็นที่รู้จักดีคือ วัดป่าสุญญตาราม กาญจนบุรี และยังมีสำนักวัดป่าสุญญตารามของเขาในต่างประเทศอีกหลายแห่ง เช่นที่ วัดป่าสุญญตาราม เมืองบันดานูน รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
ใน พ.ศ.2537 นายวินัยได้ถูกฟ้องร้องหลายข้อหาและถูกตั้งอธิกรณ์ว่าล่วงละเมิดเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ กับนางจันทิมา หรือแม่ดญ.กระต่าย อันเป็นหนึ่งในจตุตถปาราชิกาบัติที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ โดยมีการต่อสู้ด้วยพยานหลักฐานมากมายตามสื่อต่าง ๆ เป็นข่าวโด่งดังในสมัยนั้น จนในที่สุดได้ถูกมติมหาเถรสมาคมพิจารณาอธิกรณ์ปรับให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุ เพราะพิจารณาได้ความว่าเขาต้องอาบัติหนักดังที่ถูกฟ้องร้อง แต่นายวินัยไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว ด้วยการปฏิญาณตนว่ายังเป็นพระภิกษุและเปลี่ยนสีจีวรเป็นสีเขียว ทำให้ถูกสื่อต่าง ๆ ขนานนามว่า จิ้งเขียว, สมียันดะ, ยันดะ เป็นต้น ก่อนที่นายวินัยจะลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมเพื่อหลบหนีออกจากประเทศไทยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทำให้นายวินัยสามารถหลบหนีคดีความอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้จนถึงปัจจุบัน
"กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ ณ วันที่ 22 มี.ค. 2538 และเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2538 มหาเถรสมาคมได้มีการประชุมครั้งพิเศษ 3/2538 พิจารณาเห็นว่า พระวินัย อมโร ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยหลายเรื่อง จึงลงมติให้พระวินัย อมโร สละสมณเพศต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบวินิจฉัยนี้ ทั้งนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ ดังนั้นมหาเถรสมาคมจึงมีอำนาจในการพิจารณาให้พระวินัย อมโรหรือพระยันตระ สละสมณเพศได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการลงนิคหกรรม"