28 ก.พ. เวลา 20.45 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถานถึงยังประตูกำแพงแก้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทข้างพระที่นั่งราชกรัณยสภา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ เสด็จฯไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์จีน 21 รูปสวดพระพุทธมนต์ เชิญเสด็จดวงพระวิญญาณ ข้ามสะพาน พระสงฆ์จีน 21 รูปนำเสด็จดวงพระวิญญาณลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ม.จ.มงคลเฉลิม ยุคล เชิญเครื่องทองน้อย และพล.ท.ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล เชิญธงพุ่มดวงพระวิญญาณ ลงทางบันไดหน้าพระที่นั่งด้านตะวันตกไปยังมณฑลพิธี
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ตามธงพุ่มดวงพระวิญญาณลงมายังมณฑลพิธี ประทับพระราชอาสน์ ณ ทิมคดตะวันออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเพื่อบูชาเทพรักษาสะพานที่หัวสะพาน ทรงรับกระดาษเงิน กระดาษทอง แล้วพระราชทานให้เจ้าพนักงานนำไปเผา พระสงฆ์จีน 21 รูป ตั้งขบวนสวดพระพุทธมนต์นำดวงพระวิญญาณ เสด็จฯข้ามสะพานโอฆสงสาร เที่ยวไปจนครบ 3 รอบ ระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ตามเครื่องทองน้อย และธงพุ่มเชิญดวงพระวิญญาณ ทรงโปรยเหรียญลงในขันสาครที่หัวสะพานและท้ายสะพาน
เมื่อเสด็จฯ ลงท้ายสะพานรอบที่ 3 แล้วพระสงฆ์จีนหยุดยืนสวดด้านข้างมณฑลพิธี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเพื่อบูชาเทพรักษาสะพานที่ท้ายสะพาน ทรงรับกระดาษเงินกระดาษทอง แล้วพระราชทานให้เจ้าพนักงานนำไปเผา พระสงฆ์จีน 21 รูปตั้งขบวนสวดพระพุทธมนต์นำดวงพระวิญญาณเสด็จฯ ข้ามสะพานโอฆสงสารเที่ยวกลับจนครบ 3 รอบ
ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จตามเครื่องทองน้อย และธงพุ่มเชิญดวงพระวิญญาณ ทรงโปรยเหรียญลงในขันสาครที่หัวสะพานและท้ายสะพาน จากนั้นประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์จีนยืนสวดหน้ามณฑลพิธี พระสงฆ์จีน 21 รูปเชิญดวงพระวิญญาณเสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดหน้าพระที่นั่งด้านตะวันตก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ตามเครื่องทองน้อย และธงพุ่มดวงพระวิญญาณ ประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์จีนยืนสวดพุทธมนต์แล้วเดินออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงกราบพระพุทธรูปที่หน้าเครื่องนมัสการ เสด็จฯ ไปทรงกราบหน้าพระโกศพระบรมศพ แล้วเสด็จออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลงทางบันไดมุขกระสันพระที่นั่งพิมานรัตยา และเสด็จพระราชดำเนินกลับ
สำหรับ พิธีกงเต๊กหลวงครั้งนี้ นายเศรษฐพงษ์ จงสงวน ประชาสัมพันธ์คณะสงฆ์จีนนิกาย เปิดเผยถึงความหมายของพิธีกงเต๊กว่า เป็นพิธีกรรมตามคติพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในการประกอบปัตติทานกุศล คือการอุทิศบุญกุศลถวายแด่ดวงพระวิญญาณ เพื่อเพิ่มพูนทิพยสุขในแดนสุขาวดีพุทธเกษตร ซึ่งในภาษาไทยก็คือการบำเพ็ญกุศลแด่บุพการี ผู้มีพระคุณ อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีตอบแทนแด่บุคคลผู้มีพระคุณ อาทิ พระมหากษัตริย์ บิดามารดา ครู อาจารย์ เป็นต้น ซึ่งคนทั่วไป จะใช้พระสงฆ์ในพิธีมากที่สุดเพียง 9 รูป แต่ในพระราชพิธีครั้งนี้มีพระสงฆ์จีนเข้าร่วม 90 รูป ตามพระชนมพรรษา ซึ่งชาวจีนจะนับอายุเพิ่ม 1 ปี จากอายุสากล ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยครั้งนี้มี พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม เป็นประธาน
เวลาต่อมา ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระลึกถึงฉลองพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช ที่เชิญมาใช้ในพิธีกงเต๊ก สวมไว้กับรูปธงกระดาษ ซึ่งมีคำเรียกเป็นภาษาจีนว่า "ถ่งพวง" โดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ระบุว่า
เห็นฉลองพระองค์ถ่งพวงดวงใจหาย
ชุดจอมทัพพระฦาสายได้เคยเห็น
บัดนี้ไร้พระรูปทองอันผ่องเพ็ญ
เหลือเพียงเป็นภาพจำอันย้ำใจ
ผมเคยเห็นงานกงเต๊กหลวงมาหลายครั้งแล้ว แต่ที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นงานเจ้านายราชนารี ฉลองพระองค์ที่เชิญมาร่วมในพิธีมิได้เป็นเครื่องแบบของทางราชการอย่างที่เห็นในค่ำวันนี้ งานบำเพ็ญพระราชกุศลกงเต๊กครั้งนี้เชิญฉลองพระองค์จอมทัพที่เคยทรงมาเข้าพิธีด้วย ภาพแรกที่ได้เห็นทำให้ใจหายเป็นที่สุด เพราะวันคืนที่จะได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นทรงฉลองพระองค์ชุดนี้ไม่มีอีกแล้ว