พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หรือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีชื่อเสียง โดยท่านได้พูดถึง การเสื่อมสลายของพุทธศาสนาเอาไว้ในหนังสือพุทธศาสนาเสื่อมได้อย่างไร โดยทางเราได้คัดเฉพาะเรื่องการเสื่อมสลายพุทธศาสนาไว้ ดังนี้ว่า...
ผู้ที่เชื่อมั่นใจในพุทธศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าจนถึงข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่มีความหวั่นเกรงว่าใครและลัทธิอะไรก็ตาม จะมาทำลายพระพุทธศาสนาของตนให้เสื่อมสูญลงไปได้
ที่พากันกลัวว่า ลัทธิการเมืองบางลัทธิไม่ให้มีศาสนานั้น เพราะเขาผู้นั้นไม่เข้าใจหลักของพระพุทธศาสนา แล้วปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ยังเข้าไม่ถึง เห็นพระพุทธศาสนาเพียงตื้นๆ เผินๆ ยึดเอาวัดเอาโบสถ์เอาวิหาร แม้แต่พระภิกษุสามเณรที่ประพฤติตนเลวๆ ว่าเป็นศาสนา เมื่อสิ่งเหล่านั้นเสื่อมสลาย หรือบุคคลเหล่านั้นทำตนเป็นคนเลวๆ ก็หาว่าศาสนาเสื่อมสูญเสียแล้ว
แท้จริง สิ่งเหล่านั้นมิใช่ศาสนา เป็นแต่สัญลักษณ์ของพุทธศาสนาเท่านั้น พุทธศาสนาก็แปลว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าบ่งชัดอยู่แล้ว พุทธบริษัทหรือพุทธสาวกก็แปลว่าผู้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าใจแล้วและเสื่อมใสแล้วยอมปฏิบัติตาม พระสมณโคดมก็เป็นผู้ตรัสรู้สัจธรรมของจริง แล้วนำเอาธรรมของจริงนั้นมาบอกสอนคนอื่น คำสอนของพระองค์นั้นต่างหากคือพระพุทธศาสนา
ถ้าหาก สิ่งเหล่านั้นหรือท่านเหล่านั้นเป็นศาสนาแล้ว วัดและสิ่งเหล่านั้นตลอดถึงท่านเหล่านั้นนิพพานหรือตายไปแล้ว ศาสนาก็มิเสื่อมสูญไปหมดหรือ แต่นี่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ วัดเชตวันที่พระองค์ประทับตรัสเทศนาก็ดี พระพุทธองค์ก็ดี พระอสีติมหาสาวกก็ดี อนาถบิณฑิกมหาอุบาสกก็ดี นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นสลายไปแล้ว แม้พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมครู พร้อมทั้งพระสาวกและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายดังกล่าว แล้วนิพพานและถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วก็ตาม แต่พุทธศาสนาคำสอนของพระองค์ก็ตั้งมั่นอยู่ในใจของพุทธบริษัทจนตราบเท่าทุกวันนี้ หาได้เสื่อมสูญสิ้นไปแต่อย่างไรไม่
พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคตเป็นแต่ผู้บอกผู้สอนเท่านั้น ท่านทั้งหลายฟังแล้วปฏิบัติตามคำสอนของเราก็จักพ้นทุกข์ได้ด้วยตนเอง" ดังนี้ ก็แสดงว่าพุทธศาสนาคือคำสอนของพระองค์นั้นต่างหาก มิใช่ตัวของพระองค์เป็นศาสนา พระพุทธองค์เป็นแต่ผู้นำเอาความรู้ที่ได้ทรงรู้เองและเห็นในสัจธรรมนั้นออกมาสอนแก่ผู้อื่น เรียกว่า "พระบรมครู"
คำว่า "เสื่อม" กับคำว่า "สูญ" มีลักษณะต่างกัน