เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ตนได้ทราบถึงการค้นพบเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาตื ประเทศอังกฤษ จากนายเผด็จ ขำเลิศสกุล ประจำหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ (The National Archives) ผู้ซึ่งเป็นเชื้อสายชั้นหลังของหม่อมราโชทัย
"เมื่อไม่กี่วันก่อน เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุที่อังกฤษได้แจ้งว่ามีเอกสารเก่าสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ที่เพิ่งค้นพบใหม่จึงได้เข้ามาตรวจสอบ พบว่าเป็นเอกสารที่น่าสนใจมาก โดยเป็นเอกสารของเจ้าหน้าที่กงสุลอังกฤษประจำประเทศสยามที่ติดกับหน่วยงานราชการต่างๆ ของสยาม จำนวน 2 เล่ม เล่มหนึ่งเขียนเมื่อปี ค.ศ.1876 และอีกเล่ม ค.ศ.1878" ผศ.พิพัฒน์กล่าว และระบุว่า เอกสารดังกล่าวเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งตนจะเดินทางไปศึกษาในช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อเผยแพร่ต่อไป
นายเผด็จกล่าวว่า เอกสารนี้อยู่ในระบบทะเบียนของหอจดหมายเหตุ แต่ไม่มีใครทราบมาก่อนว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร เพราะเป็นภาษาไทย ที่สามารถค้นเจอเพราะใช้การค้นผ่านระบบฐานข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เอกสารนี้เขียนขึ้นในกรุงเทพฯ แต่ไม่ทราบว่าเอกสารนี้เข้ามายังหอจดหมายเหตุเมื่อไหร่อย่างไร และเท่าที่ค้นประวัติการใช้งาน ยังไม่มีการใช้งานมาก่อน ดังนั้น จึงถือเป็นเอกสารภาษาไทยที่ค้นพบใหม่
"เนื้อความหลักในหนังสือทั้งสองเล่มเป็นการคัดลอกสำเนาจดหมายราชการลงสมุดบันทึก ซึ่งแต่ละเล่มหนาประมาณ 400 หน้า ส่วนใหญ่เขียนโดยรองกงสุลใหญ่ของอังกฤษชื่อ มิสเตอร์โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ และคนอื่นๆ เนื้อหาหลักทั้งสองเล่มเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ การค้าของอังกฤษกับสยามโดยเฉพาะการค้าไม้สักและวัว ปัญหาคนในบังคับ หนี้สิน พินัยกรรม มรดก และคดีอาชญากรรมต่างๆ ของคนในบังคับของอังกฤษ ที่มีทั้งชาวจีน อินเดีย กะเหรี่ยง ไทใหญ่ (ฉาน) และตองซู เสียดายวันนี้ผมไม่มีเวลามากจึงไม่ได้ลงในรายละเอียด"
สำหรับ โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ ถือเป็นฝรั่งชาวอังกฤษคนสำคัญ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เป็นครูฝึกทหารอย่างยุโรปให้กับสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังได้เข้าร่วมกับกองทัพของกรมหลวงวงศาธิราชสนิทไปตีที่เมืองเชียงตุงอีกด้วย
ดังนั้น บันทึกทั้งสองเล่มนี้จึงเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งของประวัติศาสตร์สยามที่สำคัญมาก