เมื่อวันที่26ธ.ค.59 พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีปักหมุดการก่อสร้างพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
กำหนดการได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 15.59 น. พล.อ.ธนะศักดิ์ได้จุดธูปเทียนบูชาเครื่องสังเวย ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวง จากนั้น พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบูลย์เวทย์บรมหงส์ พรหมพงศ์ พฤฒาจาริย์ อ่านโองการบวงสรวง ประธานโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่เครื่องสังเวย จากนั้นประธานในพิธี รวมถึงผู้ปักหมุด ได้เดินไปประจำหลักหมุด ในเวลา 16.19 น. พราหมณ์เป่าสังข์แตรให้สัญญาณเริ่มปักหมุดพระเมรุมาศ โดยใช้ไม้มงคลปักหมุด จำนวน 9 จุดประกอบด้วยหมุดหลัก (ไม้ทองหลาง) ทำการฝังโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ และหมุดรองจำนวน 8 จุด (ไม้พะยูง) ได้แก่
หมุดหลักที่ 2 ปักโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
หมุดหลักที่ 3 ปักโดย ราชเลขาธิการ
หมุดหลักที่ 4 ปักโดย เลขาธิการพระราชวัง
หมุดหลักที่ 5 ปักโดย รองราชเลขาธิการ (ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ)
หมุดหลักที่ 6 ปักโดย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
หมุดหลักที่ 7 ปักโดย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
หมุดหลักที่ 8 ปักโดย ปลัดกรุงเทพมหานคร
และหมุดหลักที่ 9 ปักโดย นายเดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
สำหรับการปักหมุดเป็นการกำหนดตำแหน่งอ้างอิงในการวางผังเพื่อทำการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวคิดหลัก ของการออกแบบวางผัง โดยในทางการออกแบบสามารถกำหนดได้หลายวิธีตามความเหมาะสม
สำหรับผังการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ กำหนดตำแหน่งอ้างอิงโดยการพิจารณาจุดกึ่งกลางของยอดพระเมรุมาศเป็นจุดหลัก โดยจุดกึ่งกลางดังกล่าวกำหนดจากจุดตัดของแนวแกนสำคัญ 2 แกน ได้แก่ แกนทิศเหนือ-ใต้ หรือแกนในแนวขนานกับความยาวของท้องสนามหลวง ซึ่งสัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางของพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และแกนทิศตะวันออก ตะวันตก หรือแกนในแนวตั้งฉาก กับแนวแกนเหนือ-ใต้ สัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ส่วนประกอบอีกจำนวน 8 หมุด คือ ตำแหน่งกึ่งกลางยอดบริวารของพระเมรุมาศ ซึ่งได้แก่ ยอดซ่าง 4 ยอด และยอดมณฑปน้อย 4 ยอด รวมตำแหน่งหมดทั้งหมด 9 หมุด
สำหรับหมุดเป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดเขตก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 แนว แนวแรกกั้นเชือกเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 44 เมตร เพื่อก่อสร้างพระจิตกาธานตรงกึ่งกลาง ส่วนทั้งสี่มุมจะก่อสร้างหอเปลื้อง และนำไม้มาปักเป็นสัญลักษณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนแนวที่ 2 เจ้าหน้าที่นำเชือกกั้นรอบนอกแนวก่อสร้างหอเปลื้อง เพื่อสร้างทางเดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 68.6 เมตร พร้อมกับโรยปูนขาวเป็นแนวขอบเขตของการก่อสร้างพระเมรุมาศ และภายหลังจากการปักหมุดแล้วเสร็จ จะมีการส่งมอบพื้นที่ให้กรมศิลปากรเข้ามาทำการก่อสร้างพระเมรุมาศ ในช่วงต้นเดือนมกราคมปี 2560