แชร์มั่ว ระวังติดคุก พ.ร.บ.คอมพ์ ยุคบิ๊กตู่

แชร์มั่ว ระวังติดคุก พ.ร.บ.คอมพ์ ยุคบิ๊กตู่

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ปิดช่องกดไลค์ กดแชร์เนื้อหาที่หมิ่นเหม่กระทบความมั่นคง ความปลอดภัย และบริการสาธารณะ ขณะที่ให้ทางออกแอดมินแก้ไข ลบข้อความที่มีปัญหา และได้รับการแจ้งเตือนภายใน 3 วัน หากไม่ลบเจอรับโทษเท่าผู้โพสต์ นอกจากนี้ยังยอมเพิ่มจำนวนกรรมการกลั่นกรองตีกันรัฐใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ว่า หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติด้วยคะแนนเสียง 161 เสียง ผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ท่ามกลางกระแสคัดค้านของผู้คนในโลกโซเชียล ที่แม้จะร่วมกันกดดันให้ สนช.ชะลอการลงมติกฎหมายดังกล่าวแต่ก็ไม่เป็นผลนั้น เมื่อกฎหมายฉบับนี้ผ่านที่ประชุม สนช.ไปแล้ว สิ่งที่ประชาชนคนใช้คอมพิวเตอร์จะต้องเพิ่มความระมัดระวังนับจากนี้ประกอบด้วย
1. การระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับใหม่ได้เพิ่มความเข้มงวดต่อการเผยแพร่ข้อความ โดยระบุว่าการเผยแพร่ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ในข้อความตามมาตรา 14 (2) ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ได้กำหนดฐานความผิดให้คลุมเครือมากยิ่งขึ้น เช่น ความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อ "ความปลอดภัยสาธารณะ" "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" หรือ "การบริการสาธารณะ" ซึ่งไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ เฝ้าจับตามองการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะขัดแย้งกับผู้มีอำนาจโดยตรง
2.สำหรับผู้ให้บริการเว็บไซต์ท่า (เว็บที่รวบรวมบทความ หรือลิงก์ต่างๆ เอาไว้ในเว็บเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึง) และโซเชียลมีเดียต่างๆ มีภาระรับผิดชอบใหม่ตามข้อ 5 (2) ตามอำนาจมาตรา 15 ของกฎหมายใหม่ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการเว็บไซต์ท่าและโซเชียลมีเดียจะต้องระงับหรือลบข้อมูลภายใน 3 วันหลังได้รับแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษเท่ากับผู้โพสต์ แต่หากผู้ให้บริการได้ระงับหรือแก้ไขตามที่แจ้งเตือนถือว่าพ้นผิด ซึ่งขั้นตอนการแจ้งตามมาตรา 15 นี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการตรวจสอบโดยศาล
3.ไม่มีความปลอดภัยในโลกอินเตอร์เน็ตอีกต่อไป เพราะมาตรา 20 ของร่างใหม่ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องวิธีการปิดกั้นเว็บไซต์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรากฏเอกสารของกระทรวงไอซีทีว่ามีการเตรียมออกประกาศให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส เพื่อให้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่เข้ารหัส HTTPS (เว็บที่ปลอดภัยสำหรับการซื้อ การกรอกแบบฟอร์ม เช่น บัตรเครดิต) ได้
4. เว็บถูกบล็อกได้เบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียวจากเดิมที่ต้องขอคำสั่งศาลตามมาตรา 20 แต่ตามกฎหมายใหม่ได้ขยายอำนาจในมาตรา 20 ให้สามารถปิดเว็บไซต์ที่อาจจะผิดกฎหมายอาญาอื่นรวมถึงเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่า "ละเมิดลิขสิทธิ์" ได้
5.แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ "ผิดศีลธรรม" ก็ถูกบล็อกได้ อีกมาตราหนึ่งที่ถือเป็นปัญหาสำหรับ พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่คือมาตรา 20/1 เรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ระบุว่าหากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่าเนื้อหาเหล่านั้น "ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี" ก็อาจทำให้เว็บไซต์ถูกบล็อกได้เช่นกัน แม้ว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์จะไม่ผิดกฎหมายใดๆเลยก็ตาม จากที่ก่อนหน้าแม้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะตรวจพบเว็บไซต์ที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมายต่างๆ เช่น เว็บไซต์เล่นการพนัน เว็บไซต์ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ แต่ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านี้ เนื่องจากเป็นกระทำความผิดที่อยู่นอกเหนือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ แต่ตามกฎหมายใหม่กำหนดให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สามารถขอหมายศาลให้บล็อกเว็บที่มีเนื้อหาผิดต่อกฎหมายอื่นได้ด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นๆร้องขอมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พอจะลดความกังวลไปได้บ้างก็คือ ในส่วนของคณะกรรมการกลั่นกรองฯที่เดิมมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ 5 คน แต่ในกฎหมายที่ได้แก้ไขปรับปรุงใหม่ได้เพิ่มจำนวนกรรมการกลั่นกรองเป็น 9 คน ทั้งยังกำหนดคุณสมบัติของกรรมการกลั่นกรองที่ต้องมาจากภาคเอกชน 3 คนคือ จากภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังกำหนดให้คำตัดสินของคณะกรรมการต้องมีกรรมการเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งหรือเกิน 5 คน ทำให้การพิจารณาเนื้อหาของกรรมการกลั่นกรองน่าจะยังมีความรอบคอบมากขึ้น

แชร์มั่ว ระวังติดคุก พ.ร.บ.คอมพ์ ยุคบิ๊กตู่


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์