จากกระแสวิพากษ์วิจารย์ถึงความไม่เหมาะสม กรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหาถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากต้องชี้แจงต่อป.ป.ช.อย่างละเอียด นอกจากรายการทรัพย์สินแล้ว พล.ต.ท.ศานิตย์ ยังมีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี2558 ได้เงินเดือนๆ ละ 50,000 บาท
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) กล่าวว่า ขอตั้งคำถามถึง พล.ต.ท.ศานิตย์ ที่เป็นถึงข้าราชการระดับสูง เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้รักษากฎหมายในบ้านเมือง แต่ไปรับเงินจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ พฤติกรรมนี้เหมาะสมหรือไม่ และข้าราชการคนอื่นๆจะมีการเปิดเผยข้อมูลรายได้ หรือรับเงินในลักษณะนี้หรือไม่ เพราะเชื่อว่ายังไม่อีกจำนวนไม่น้อย และกรณีนี้เป็นหลักฐานได้หรือไม่ว่าธุรกิจน้ำเมาอุปถัมภ์ข้าราชการ ตลอดจนนักการเมืองทุกระดับ ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการเข้ามาแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ไร้ประสิทธิภาพ
"ขอเรียกร้องให้สังคมและสื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบความเหมาะสม หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากการตกเขียวข้าราชการ ที่สำคัญนี่เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างอาจนำมาอ้างเพื่อรับเงินจากธุรกิจร้านเหล้าผับบาร์ในรูปแบบต่างๆได้เช่นกัน จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้จะเห็นคนมีสีเข้าไปเกี่ยวข้องกับร้านเหล้าผับบาร์ ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายน้ำเมาอ่อนแอยิ่ง และขอฝากถึงบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมี ธรรมาภิบาล สร้างความโปร่งใสให้สังคม ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา อย่าดึงข้าราชการมาเกี่ยวข้องเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง" นายคำรณ กล่าว
ด้านว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้พล.ต.ท.ศานิตย์ ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาบริษัทไทยเบฟ เนื่องจากการที่ข้าราชการระดับสูงเข้าไปเป็นที่ปรึกษา แล้วยังกำกับดูแลกฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 และกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ ถือว่าสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต อย่าลืมว่าบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ดังนั้นหากมีการแทรกแซงจะทำให้การกวดขันเข้มงวดอาจทำได้ยาก อำนาจหน้าที่การบังคับใช้กฎหมายจะเกิดปัญหา เรื่องจรรยาบรรณข้าราชการที่รับของกำนันจากบุคคลอื่นที่มีมูลค่าเกินสามพันยังไม่ได้ แต่กลับถูกจ้างเป็นที่ปรึกษารับเงินเดือนประจำ ทั้งที่ตนเองมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายก็เศร้าใจ ทั้งนี้หากข้าราชการระดับสูงทำได้ ถ้าข้าราชการระดับล่างไปเป็นที่ปรึกษา รับเงินกิจการสถานบันเทิงที่มีเกลื่อนเมืองจะเกิดอะไรขึ้น
"สนช.เปิดเผยที่มาของรายได้ข้าราชการ เป็นเรื่องที่ทำถูกต้องแล้ว เพราะลำพังประชาชนไม่มีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้เลย และเชื่อว่ามีข้าราชการที่รับตำแหน่งต่างๆแต่ยังไม่ถูกเปิดเผย อย่างไรก็ตาม แม้ในทางกฎหมายอาจจะไม่ผิด แต่ก่อนจะรับตำแหน่งใดๆต้องมีดุลยพินิจในทางที่ถูกต้อง มีจริยธรรมมีจรรยาบรรณมากพอ ข้าราชการต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ให้ถูกครหาในลักษณะที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน และขอฝากไปถึงข้าราชการท่านอื่น โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ต้องวางตัวให้เหมาะสม ไม่ควรตกเป็นเครื่องมือใคร ความถูกต้องและความสง่างามเป็นเรื่องใหญ่" ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าว