พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสถึง พล.อ.เปรม

พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสถึง พล.อ.เปรม

ถือเป็นพระราชดำรัสที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ยิ่งอีกช่วงเวลาหนึ่งของประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่านรัชสมัย รัชกาลที่ 9  สู่  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 10   แห่งราชวงศ์จักรี   แต่ยังคงไว้ซึ่งประธานองคมนตรีที่ชื่อ  พล.อ. เปรม  ติณสูลานนท์  อดีตนายกรัฐมนตรี  และผู้บัญชาการทหารบก  ที่มีเกียรติประวัติมายาวนานในเรื่องความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูง

"ขอบใจ และแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ

ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่อของแผ่นดินมีเรื่องต่างๆที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว  ขอขอบคุณและได้ป๋ามาเป็นประธาน   ก็อุ่นใจแล้ว  ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ"

ย้อนหลังกลับเมื่อวันที่  23  ส.ค.  2531   หรือ   เมื่อกว่า 28  ปีมาแล้ว       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช     ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้พล.อ.เปรมเป็น องคมนตรี   และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  พระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์   ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับสามัญชน ให้แก่  พล.อ.  เปรม ติณสูลานนท์   และ ในวันที่  29  ส.ค. 2531   ยังได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ  ประกาศยกย่องพลเอก เปรม ติณสูลานนท์  เป็น  รัฐบุรุษ

ทั้งนี้ความหมายของรัฐบุรุษ    หรือ    Statesman   ในภาษาอังกฤษ    คือผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารบ้านเมือง  อาทิ ผู้นำทางการเมือง  หรือผู้นำทางการทหาร โดยตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งได้ประกอบคุณงามความดี ปฏิบัติราชการอย่างเต็มกำลังสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  มีความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองจนเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไป และมีการประกาศอย่างเป็นทางการยกย่องบุคคลนั้นเป็น รัฐบุรุษ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและตัวอย่างอันดีงานต่อไป

โดยประเทศไทยมีผู้ได้รับยกย่องเกียรติประวัตินี้เป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 8  คือ นายปรีดี  พนมยงค์  อดีตนายกรัฐมนตรี   และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนกระทั่งต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น  โปรดเกล้าฯ  ยกย่อง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐบุรุษคนที่สองของแผ่นดินไทย

สำคัญยิ่งแม้ประเทศจะมีคามเปลี่ยนแปลงองค์พระมหากษัตริย์     ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์  และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะองค์รัชทายาท  ได้รับการทูลเชิญขึ้นทรงราชย์  เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ   บดินทรเทพยวรางกูร   แต่  พล.อ.เปรมยังได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายงานในฐานะประธานองคมนตรีสืบเนื่องต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้นด้วยพระราชดำรัสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสถึง  พล.อ.เปรม  ด้วยคำว่า  “ ขอขอบคุณและได้ป๋ามาเป็นประธาน   ก็อุ่นใจแล้ว   ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน   และคิดจะทำให้ประเทศเรามีความสุข … ”  ยิ่งทำให้เห็นว่าพล.อ.เปรมเป็นข้าราชบริพารที่สถาบันเบื้องสูง  ทรงไว้วางพระราชหฤทัยด้วยพระกรุณาธิคุณสูงสุด   

ขณะที่ด้วยเกียรติประวัติของพล.อ.เปรม  ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  10  ทรงพระมหากรุณาธิคุณใช้คำว่า  “ป๋า”   เฉกเช่นเดียวกับบุคลากรในกองทัพ  และสาธารณชนทั่วไป  จึงทำให้คำนี้มีความหมายยิ่งที่ควรได้มีการสืบค้นเพื่อความเข้าใจให้ถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ตามประวัติเส้นทางชีวิตการรับราชการทหารของ  พล.อ.เปรม   นับว่ามีความพลิกผันอยู่ไม่น้อย  เพราะจากจุดเริ่มต้นในการเข้าเรียนโรงเรียน “ เท็ฆนิคทหารบก”  หรือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน   พล.อ.เปรม ตั้งใจว่าจะเป็นทหารปืนใหญ่  แต่เนื่องด้วยเกิดภาวะสงครามทำให้พล.อ.เปรมต้องเบนเข็มชีวิตมาเลือกเรียนทหารม้า และทำหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาเหล่าทหารม้ามาโดยตลอดต่อเนื่อง  อาทิ  เมื่อวันที่  1 ต.ค. 2511  ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์ทหารม้า    ต่อมาในวันที่  18 ก.ค. 2512  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์   และนับแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้  ความรู้สึกของพล.อ.เปรมในวัย 96  ปี  ก็ยังคงผูกผันกับทหารม้าไม่เคยแปรเปลี่ยน 

เช่นเมื่อวันที่  11 เม.ย. 2559  ที่ผ่านมา  พล.อ.เปรม  ได้ปรารภรำลึกภาพความทรงจำในฐานะอดีตทหารม้า  ระหว่าง   พล.อ.วันชัย เรืองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและทหารม้าอาวุโส นำกำลังพลเหล่าทหารม้าจากหลายกองพล กรม กองที่สังกัดทหารม้า เข้าขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นปีใหม่ไทย  

รวมถึงพล.อ.เปรม ยังฝากให้เหล่าทหารม้าทำหน้าที่ให้ดีที่สุด  รวมทั้งขอให้ช่วยกันต่อต้านและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงและเด็ดขาดที่สุด  โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจึงจะขจัดปัญหาดังกล่าวให้ได้  รวมถึงฝากให้ พล.อ.วันชัย ดูแลเหล่าทหารม้า  ให้มีความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียวกัน  โดยให้หน่วยอื่นสามารถนำรูปแบบนี้ไปใช้เป็นแบบอย่างได้ และขอให้รักษาความดีนี้ไว้สืบต่อไป

และที่ถือเป็นประเด็นหลักของสิ่งที่ควรโฟกัสก็คือที่มาของคำว่า “ป๋า”    เพราะถือเป็นสิ่งที่ทุกคนมักคุ้นและเรียกพล.อ.เปรมว่า “ป๋าเปรม”   มาโดยตลอด   กระทั่งล่าสุดแม้แต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินในรัชกาลปัจจุบัน   ยังทรงพระเมตตาตรัสเรียกพล.อ.เปรม  ว่า "ป๋า"  เช่นเดียวกัน  

จากข้อมูลในหนังสือ  “ชีวิตและความภาคภูมิใจของ  พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ”   ระบุว่า   “หลังจากปี พ.ศ.2500   ความรักอันมั่นคงและเต็มเปี่ยมไปด้วยความเสียสละของ พ.ท.เปรม ติณสูลานนท์    อาจารย์วิชาทหารโรงเรียนยานเกราะและผู้บังคับกองทัพทหารม้าที่ 5 กรมทหารที่ 2 ขยายกว้างขึ้น

เขาให้ความรักแก่งานในหน้าที่อย่างเอาเป็นเอาตาย   แพร่ขยายความรักต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง ไม่ใช่แต่เท่านั้น  บรรดาลูกๆทหารที่พ่อไม่เอาใจใส่  เขาพยายามตักเตือนแนะนำให้อยู่ในแนวทางของพ่อที่ดี  และระยะหลังความรักของเขาแพร่ขยายไปถึงประชาชนที่ยากไร้และได้รับความยุติธรรม

ความรักอันมั่นคงแน่นหนักเหมือนกับภูเขา แพร่กระจายไปยังลูกน้องทั่วถ้วนทุกคน และยังขยายไปถึงครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเหมือนกับสมัยที่เขายังอยู่บางกระบือ   ถ้าหากทหารคนใดไม่เอาใจใส่ลูกเต้า เขาจะเรียกมาตักเตือนด้วยความหวังดี ....”

ละทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต่างก็พร้อมใจกันเรียกท่านว่า “ป๋า”  กันถ้วนหน้า  และเป็นที่รับรู้ว่าสรรพนามเรียกพล.อ.เปรม  ว่า  “ป๋าเปรม”  ได้กำเนิดเริ่มต้นที่ศูนย์ทหารม้านั่นเอง..

ขณะที่อีกหนึ่งข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซด์สวนประวัติศาสตร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  สงขลา  ได้ขยายความในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า    “ เหล่าทหารม้า  มีประเพณีอย่างหนึ่งซึ่งสืบทอดกันมาแต่อดีต  คือ  เปรียบหัวหน้าเหล่า หรือ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า เป็น “พ่อม้า” เปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา เป็น “ลูกม้า”

และมักจะเรียกหัวหน้าเหล่าว่า “พ่อ” หรือ “ป๋า” ตามแต่ผู้บังคับบัญชาท่านนั้น ๆ จะเห็นชอบ  หรืออาจไม่เรียกเลยก็ได้ เพราะไม่ใช่ข้อบังคับ ส่วนสรรพนามแทนตัวของพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่คนทั่วไปคุ้นหูว่า  “ป๋าเปรม”  เกิดขึ้นในช่วงที่พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า

ค่านิยมของ ทหารม้าที่โดดเด่นคือ ความรักพวกพ้อง กล้าแสดงออก  จนได้ชื่อว่าเป็นเหล่าที่มีชีวิตโลดโผนโจนทะยานมากเหล่าหนึ่ง เห็นได้จากคำขวัญต่าง ๆ ของเหล่าทหารม้าว่า “มีดีต้องโชว์”  “กอดคอกันตาย” และ  “สุราละโว้ย” ซึ่งในช่วงที่ “ป๋าเปรม” เป็นหัวหน้าเหล่า ได้วางตัวอย่างสง่างาม ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป คือท่านร่วมกิจกรรมสังสรรค์กับผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ  

แต่มิใช่เที่ยวดื่มสุราจนเมามาย ท่านรู้จักเวลาและพอประมาณ งานสังสรรค์ของท่าน  จึงเน้นที่ความสนุกสนาน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในหมู่เหล่า และเป็นแบบอย่างให้  “ลูกม้า” ที่เคยเที่ยวดื่มแบบหยำเปปรับตัวตามอย่างเต็มใจ  ผู้ใต้บังคับบัญชาเหล่าทหารม้าในขณะนั้น นอกจากจะได้ปฏิบัติตามประเพณี เรียก พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์  (ยศในขณะนั้น)  ว่า “ป๋าเปรม” แล้ว  โดยส่วนมากยังรู้สึกประทับใจผูกพันเสมือนป๋าเปรมเป็น “พ่อ” จริง ๆ อีกด้วย...

ขอบคุณเนื้อหาจาก TNEWS

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์