นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 12,750 ล้านบาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยนอกภาคการเกษตรราว 5.4 ล้านคน ผ่าน 3 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะดำเนินการโอนเข้าบัญชีภายในระยะเวลาตั้งแต่ 1 ธ.ค.- 30 ธ.ค.59
สำหรับเงื่อนไขการได้รับสิทธิ์ ต้องลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีและเป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ในปี 2558 ซึ่งมีการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลในเบื้องต้นจากกรมสรรพากร และกรมการปกครองแล้ว โดยให้ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร รายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้รายละ 3,000 บาท ผู้มีสิทธิ์ประมาณ 3.1 ล้านคน วงเงิน 9,300 ล้านบาท และผู้มีรายได้เกินกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จะได้รายละ 1,500 บาท ผู้มีสิทธิ์ประมาณ 2.3 ล้านคน วงเงิน 3,450 ล้านบาท รวมจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ 5.4 ล้านคน วงเงินรวม 12,750 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะให้ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อยดังกล่าวไปก่อน และรัฐบาลจะชดเชยต้นทุนเงินให้กับทั้ง 3 ธนาคารในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดาของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ FDR บวก 1% โดยปัจจุบันอัตรา FDR เท่ากับ 1.225% ต่อปี
"ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสัญญาณชะลอตัว แม้ว่าว่าในปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องแต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบาง ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีความเสี่ยงด้านรายได้เพื่ออุปโภคบริโภค คลังจึงเห็นควรเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยครอบคลุมทุกกลุ่มจากก่อนหน้านี้ให้กับภาคเกษตรไปแล้ว"
ขอบคุณ naewna.com