ชาวเชียงใหม่ ร่วมจุดเทียนแสดงความอาลัยฯ ใต้แสงจันทร์ ในคืนซุปเปอร์ฟูลมูน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ชาวเชียงใหม่ ร่วมจุดเทียนแสดงความอาลัยฯ ใต้แสงจันทร์ ในคืนซุปเปอร์ฟูลมูน
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2559) ที่ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จ.เชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ "ซุปเปอร์ฟูลมูนวันลอยกระทง” และร่วมกับประชาชนชาวเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง จุดเทียนแสดงความอาลัยใต้แสงจันทร์ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเวลา 19.09 น. โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ และ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ได้มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนแสดงความอาลัย ฯ และต่อคิวดูซุปเปอร์ฟูลมูนผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งไว้กว่า 20 ตัว เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากที่ จ.เชียงใหม่ แล้ว สดร.ยังจัดกิจกรรมดังกล่าวในเวลาเดียวกัน ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษานครราชสีมา จ. นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงหน่วยงานดาราศาสตร์เครือข่ายอีก 163 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับปรากกฎการณ์ซุปเปอร์ฟูลมูนในคืนวันลอยกระทง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. เปิดเผยว่า เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ปีนี้ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง หรือวันลอยกระทงพอดี ซึ่งดวงจันทร์จะโคจรมาปรากฏในระยะห่างจากโลกที่ประมาณ 356,511 กิโลเมตร ถือเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2491 ซึ่งในครั้งนั้นอยู่ที่ระยะห่างประมาณ 356,462 กิโลเมตร ทั้งนี้ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย โดยมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าเมื่อขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุด ประมาณ 14 % และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30 % เห็นได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ตก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไป โดยเวลาที่สังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมากที่สุดจะอยู่ในเวลาประมาณ 20.30 -21.00 น. นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็น ดาวอังคาร ดาวศุกร์และดาวเสาร์ได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า ปกติแล้วดวงจันทร์มีลักษณะวงโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี โดย 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และแม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง ดวงจันทร์เต็มดวงจะอยู่ตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดประมาณทุกๆ 13 เดือน ซึ่งปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 2 มกราคม 2561 ที่ระยะห่างประมาณ 356,565 กิโลเมตร และคาดว่าจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดอีกครั้ง ประมาณวันที่ 25 พฤศจิกายน 2577 หรือในอีก18 ปีข้างหน้า โดยใกล้โลกน้อยกว่า 356,511 กิโลเมตร
สำหรับปรากฏการณ์ซุปเปอร์ฟูลมูลเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภัยพิบัติหรือแผ่นดินไหวหรือไม่นั้น นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวยืนยันว่า การที่ดวงจันทร์ใกล้โลกไม่มีผลกระทบใด ๆ กับโลก นอกจากอิทธิพลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงเท่านั้น และที่ผ่านมาไม่มีเคยมีงานวิจัยหรือการเก็บข้อมูลใด ๆ ที่สามารถระบุหรือยืนยันได้ว่าปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลก เกี่ยวข้องหรือเป็นสาเหตุให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนจะมีปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้และไกลโลกเป็นประจำ โดยหากใกล้โลกที่ระยะห่างน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร จะเรียกว่า ซุปเปอร์มูน ถ้าตรงกับดวงจันทร์เต็มดวงจะเรียกซุปเปอร์ฟูลมูน หากไกลโลกมากกว่า 400,000 กิโลเมตร จะเรียกไมโครมูน การเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ที่นิวซีแลนด์ แม้จะใกล้กับวันที่เกิดซุปเปอร์ฟูลมูน แต่ในเดือนอื่น ๆ เช่น เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดวงจันทร์ก็ใกล้โลกที่ระยะห่างใกล้เคียงกับครั้งนี้ เพียงแต่ไม่ตรงกับวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง จึงไม่เป็นที่สนใจของประชาชนเท่านั้น