พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย กับ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”

พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย กับ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”

พระราชนิยมหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ "การถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์"

ในปี พ.ศ.2493 เมื่อมีการจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล เจ้านายซึ่งโปรดการสร้างภาพยนตร์และทรงเคยสร้างภาพยนตร์ของกรมรถไฟหลวงมาก่อน ร่วมกับข้าราชบริพารจัดการถ่ายภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีดังกล่าวไว้โดยตลอด และต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ประมวลเข้ากับภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีนี้ที่ถ่ายไว้โดย นายแท้ ประกาศวุฒิสาร ช่างถ่ายภาพยนตร์อิสระรายหนึ่ง เพื่อพระราชทานออกฉายให้ประชาชนไทยชมทางโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการ "ภาพยนตร์ส่วนพระองค์" มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งในราชสำนัก ทำหน้าที่บันทึกภาพยนตร์พระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นหน่วยผลิตภาพยนตร์ที่ยืนยาวที่สุดในประเทศ

คุณค่าของภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ นอกจากจะเป็นบันทึกพระราชกรณียกิจของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์เป็นรายวันแล้ว ยังเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกบรรดาพระราชพิธีและรัฐพิธีสำคัญของบ้านเมืองเป็นลำดับมาตั้งแต่ต้นรัชกาล


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย กับ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”

การเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกหนแห่งทั่วราชอาณาจักร การเสด็จพระราชดำเนินไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ รวมถึงภาพพระราชอิริยาบถที่เป็นส่วนพระองค์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่ทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์ ซึ่งนับเป็นพระอัจฉริยภาพด้านหนึ่ง ทั้งที่ทรงถ่ายภาพในครอบครัว ข้าราชบริพาร และถ่ายภาพของประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ในทุกที่ที่พระองค์เสด็จฯ ไป จากมุมกล้องที่ไม่สามารถมีผู้ใดถ่ายทำได้ นั่นคือ ภาพประชาชนจากสายพระเนตรของพระเจ้าแผ่นดินของพวกเขาเอง

นับจากปี พ.ศ.2493 กิจการภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ไม่เคยหยุดเลย ช่างถ่ายภาพส่วนพระองค์ได้ทำหน้าที่บันทึกภาพยนตร์ส่วนพระองค์สืบมาแทบทุกวัน เชื่อได้ว่าภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นภาพยนตร์ส่วนตัวของบุคคล หรือ "หนังบ้าน" ที่มีการบันทึกต่อเนื่องยืนนานที่สุดในโลก มีปริมาณมากที่สุดในโลก เป็นความทรงจำและเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักอันสนิทแน่นระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและพสกนิกรของพระองค์ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวและเป็นเอกในโลก สมควรเป็นมรดกความทรงจำของโลกโดยแท้

พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ภายในหอภาพยนตร์ จัดแสดงเรื่องราวอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านภาพยนตร์ซึ่งถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไว้ ณ บริเวณชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ กับนิทรรศการ "หนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ในประเทศไทย" บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 100 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2440-2540

เปิดบริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละ 5 รอบ 10.00 น. 11.00 น. 13.00 น. 14.00 น. และ 15.00 น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

(ข้อมูล : จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 36 พฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ.2559)


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย กับ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย กับ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย กับ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย กับ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์