ภาพหญิงคนหนึ่งกำลังกางร่มบังพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ท้องสนามหลวง ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย ผลงานของช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ สร้างความปลาบปลื้มให้แก่ผู้พบเห็นอย่างยิ่ง ทว่าขณะเดียวกันกลับมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ภาพดังกล่าวถูกจัดฉากขึ้น รวมทั้งมีการตกแต่งภาพให้ดูเกินจริง
ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผู้ถ่ายภาพดังกล่าว ซึ่งได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังการถ่ายภาพนี้ให้ฟังว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เขาได้รับมอบหมายจากต้นสังกัดให้ไปถ่ายภาพบรรยากาศช่วงค่ำที่สนามหลวง เนื่องจากเป็นคืนสุดท้ายก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะมีการเปิดให้ประชาชนเข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เป็นวันแรก
"ผมไปถึงตอนประมาณห้าโมงเย็น ตอนนั้นตรงกลางสนามหลวงค่อนไปทางพระบรมหาราชวัง มีประชาชนประมาณ 80-100 คนกำลังนั่งสวดมนต์ 89 จบถวายในหลวงกันอยู่ มีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงมาตั้งไว้ด้านหน้าด้วย ผมถ่ายรูปบรรยากาศคนสวดมนต์ไปเรื่อยๆจนประมาณสองทุ่ม หลังสวดมนต์เสร็จพวกเขาก็จุดเทียนเป็นสัญลักษณ์เลข 9 จากนั้นฝนก็ตกลงมา คนบางส่วนที่ไม่ได้พกร่มก็พากันวิ่งหลบฝน ส่วนคนที่พกร่มมาก็นั่งกันต่อ
ตอนนั้นผมเห็นผู้หญิงคนหนึ่งกางร่มให้พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ผมกับเพื่อนช่างภาพจากบีบีซีไทยที่กางร่มถ่ายรูปคนวิ่งหลบฝนอยู่แถวนั้นจึงรีบเข้าไปถ่าย หลังจากนั้นก็มีผู้หญิงอีกคนเข้ามาช่วยกางร่ม ผมก็ถ่ายรูปต่ออีกประมาณนาทีนึงจนฝนตกหนักกว่าเดิมและกลัวว่ากล้องจะเสียหายเลยถอยออกมา ส่วนผู้หญิงสองคนที่กางร่ม รวมถึงคนอื่นที่จุดเทียนก็อยู่ต่อสักพักนึงก่อนที่ฝนตกหนักจนทนไม่ไหว สุดท้ายพวกเขาก็วิ่งหลบฝนออกมาจากตรงนั้นกันหมด"
ช่างภาพผู้ลั่นชัตเตอร์บันทึกภาพนี้ ยืนยันว่า "ไม่มีการจัดฉากถ่ายภาพอย่างแน่นอน"
"ผมเข้าไปถ่ายรูป ไม่ได้สื่อสาร หรือคุยอะไรกับคนในรูปเลย ส่วนเรื่องรีทัช ผมทำงานข่าว ด้วยหน้าที่มันปรับอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ผมปรับความมืด-สว่างปกติตอนส่งงานแค่นั้น"
นี่คือคำชี้แจงของ ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เจ้าของภาพดัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง