ทำไม ชาวนาญี่ปุ่น จึงรวย?
ในช่วงไตรมาส4 ของทุกปี เราจะพบว่า มีชาวญี่ปุ่น มาเล่นกอล์ฟ ที่ประเทศไทย มากมาย หลายคนคงไม่รู้ว่า มากกว่าครึ่งนั้น พวกเขาคือชาวนา ที่มาท่องเที่ยวพักผ่อน ชาวนาญี่ปุ่นรวย มีความสามารถที่จะกันเงินส่วนหนึ่งออกท่องเที่ยวไปทั่วโลก บางคนสงสัยว่า ทำไมชาวนาญี่ปุ่น จึงร่ำรวย ในขณะที่ชาวนาไทย จึงยากจน อย่าว่าแต่จะเก็บเงินไปท่องเที่ยวเลย เพียงแค่ให้สามารถดำรงชีพได้ ไม่เป็นหนี้ ก็ยังไม่สามารถทำได้
ชาวนาญี่ปุ่น มาถึงวันนี้ได้ ไม่ใช่เพราะญี่ปุ่นคิดและทำเอง แต่เพราะคนญี่ปุ่นมีวินัย เมื่อเห็นว่าใครมาวางพื้นฐานที่ดีให้ พวกเขาสานต่อและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นๆ
ชาวนาญี่ปุ่นรวยเพราะ ญี่ปุ่นแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่2 ในสงครามครั้งนั้น แม้จะสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เพราะโดนระเบิดปรมาณูถึง2 ลูก ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ผู้คนตายหลายแสน กัมมันตภาพรังสีตกค้างจนมีคนพิการมากมายเป็นล้านคน
แต่ในความโชคร้ายนั้น ก็มีโชคดีที่ส่งผลให้ชาวนาญี่ปุ่นกลายเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง เป็นกลุ่มอาชีพ ที่ร่ำรวยจากการทำนา ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
เมื่อสหรัฐอเมริกา ชนะสงครามเหนือญี่ปุ่น รัฐบาลสหรัฐได้ส่งกองกำลังทางทหารเข้าปกครองเหนือรัฐบาลญี่ปุ่น สหรัฐมองว่า การแพ้สงครามครั้งนี้ ญี่ปุ่นบอกช้ำมาก มากถึงระดับที่หากไม่แก้ไข ภาระความรับผิดชอบต่อการหิวโหย อดอยาก ขาดอาหารของประชาชนชาวญี่ปุ่น ต้องตกแก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นแน่แท้
ในสมัยนั้น สภาพสังคมของญี่ปุ่น เจ้าของที่ดินรายใหญ่ จะเป็นราชวงศ์ ขุนนาง และพ่อค้าคหบดี เท่านั้น ชาวนาส่วนใหญ่ ต้องเช่าที่ดินของคนกลุ่มนี้ ซึ่งราคาค่าเช่า ขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ดิน อีกทั้งเมื่อเกิดผลผลิตขึ้นมา ต้องขายให้เจ้าของที่ดิน เพราะภาวะหลังสงคราม อาหารไม่เพียงพอ ผลผลิตข้าว จะตั้งราคาขายให้สูงอย่างไรก็ได้ ผลที่เกิดขึ้นคือ ชาวนาผู้ปลูกยากจน แต่เจ้าของที่ดินร่ำรวยมหาศาล
ในปี 1946 รัฐบาลสหรัฐ จึงใช้อำนาจทางทหาร สั่งให้รัฐบาลญี่ปุ่น ปฏิรูปที่ดิน ทั้งประเทศ โดยบังคับให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ ที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้น ขายที่ดินให้รัฐบาล ใครคัดค้านโดนจับโดนยึดทรัพย์ แล้วรัฐบาลก็เอาที่ดินเหล่านั้น มาแบ่งขายให้เกษตรกร ที่ทำการเกษตรด้วยตัวเองแต่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยให้สามารถผ่อนจ่ายได้ ตามรอบของผลิตผลที่ออกมา โดยราคาขายรัฐบาลตั้งไว้เป็นที่แน่นอน ไม่ขึ้นลงตามสภาพตลาด
ในภาวะ หลังสงคราม ของกินของใช้มีน้อย พ่อค้ากำหนดราคาขายที่สูงได้ เกิดภาวะเงินคั่งอยู่ในกลุ่มพ่อค้า แต่ผู้บริโภคไม่มีเงิน ขาดความสมดุล รัฐบาลต้องพิมพ์เงินเติมเข้าไปในกลุ่มผู้บริโภค จึงส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ ค่าของเงินมีค่าต่ำ ข้าวกิโลกรัม เดียวต้องใช้เงินเป็น1000 เยน แต่ในความโชคร้ายนั้น กลับเป็นโอกาสให้ ชาวนามีเงินในมือมากพอที่จะชำระค่าที่ดินได้ เพราะราคาที่ดินไม่ได้ขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ
มาตรการนี้ ได้รับการชื่นชมไปทั่วโลกว่าเป็นการปฏิรูปเชิงเกษตรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะ นอกจากทำให้ชาวนามีที่ดินเป็นของตัวเองแล้ว ยังเป็นการปลดพันธนาการ ระหว่างนายทุน นายเงิน กับ ชาวนา ออกจากกันได้ ทำให้ชาวนาเริ่มมีอิสระ ที่แท้จริงในการประกอบอาชีพ
ต่อมา เป็นกฎเกณฑ์สำคัญ ที่ทำให้ชาวนา เป็นอาชีพที่มั่นคง และร่ำรวยในปัจจุบัน
ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ไม่ใช่ใครอยากจะทำนาก็เข้าไปทำได้ คนจะเป็นชาวนาได้ ต้องใช้วิธีสืบทอด เท่านั้น หมายถึงพ่อเป็นชาวนา เมื่อพ่อทำไม่ไหว คนที่จะทำต่อได้ต้องเป็นลูกหรือผู้เข้ารับมรดก แทนที่เท่านั้น หากประชาชนทั่วไป อยากมาทำนา ต้องเข้าระบบสหกรณ์ รัฐจะจัดสรรที่ดินให้ทำ โดยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว
มาถึงตรงนี้ พอเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่า การทำนาในประเทศญี่ปุ่น ถูกควบคุมด้วยปริมาณ ทำให้รัฐบาลรับรู้ถึงผลผลิตที่จะออกมาว่า เกินการบริโภคภายในจำนวนเท่าไร ส่วนที่เกินจะเอาไปขายที่ใหน